(เพิ่มเติม) ธปท.ระบุทิศทางดอกเบี้ยนโยบายต้องติดตามปัจจัยตปท.แต่เพื่อนบ้านยังทรงตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 9, 2012 12:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่า แม้ขณะนี้หลายประเทศจะมีทิศทางดอกเบี้ยขาลง ก็ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในต่างประเทศ แต่ในแง่ของไทยนั้นมีวัฏจักรทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องพิจารณาจากปัจจัยภายในประเทศด้วย ขณะเดียวกันเห็นว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย และเกาหลีใต้นั้น อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับทรงตัว

สำหรับเงินทุนไหลเข้าสุทธิในช่วงปีนี้ยังถือว่ามีจำนวนไม่มากเท่ากับในช่วงปี 53 เนื่องจากบรรยากาศการลงทุนในประเทศไทยมีความไม่แน่นอน ดังนั้น นักลงทุนจึงหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูง เช่น การลงทุนในดอลลาร์ โดยพบว่านักลงทุนเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของไทยในสัดส่วนที่น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยอยู่ในระดับเพียง 8-9% ขณะที่ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของประเทศอื่นสูงกว่า แต่ระยะต่อไปมีโอกาสที่นักลงทุนต่างประเทศจะกลับมาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยในสัดส่วนที่สูงขึ้น

ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวด้วยว่า วันนี้จะมีการลงนามแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาหาแนวทางในการลดผลขาดทุนของ ธปท. โดยโครงสร้างของคณะทำงานจะมีคณะกรรมการของ ธปท. และผู้บริหาร ธปท.ร่วมด้วย ซึ่งคณะทำงานชุดนี้จะดูแลในเรื่องรายได้และรายจ่ายของ ธปท.

ในส่วนของรายได้นั้นจะมีกฎหมายกำหนดกรอบแนวทางการลงทุนของ ธปท.ที่ไม่สามารถลงทุนในหุ้นได้ แต่สามารถลงทุนได้เฉพาะตราสารหนี้ ซึ่งการลงทุนมีทั้งในแง่ของความเสี่ยงและผลตอบแทน ดังนั้น หากคณะกรรมการจะเลือกแนวทางการลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสูงก็จะต้องมีความเสี่ยงสูงตามด้วย

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวเรื่อง Financial Crises and The Future of Global and Asian Banking ในงานสัมมนา Asia in Transformation ว่า ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. ช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหาความเปราะบาง เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อลักษณะของธนาคารพาณิชย์ในอนาคต ซึ่งหลังจากธนาคารพาณิชย์ฟากตะวันตกประสบปัญหา อ่อนแอ และธนาคารพาณิชย์ฝั่งเอเซีย เช่น จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย พยายามเข้ามามีบทบาททดแทนในบางจุด

ส่วนธนาคารในเอาเซียนได้เพิ่มน้ำหนักการสนับสนุนลูกค้าที่ลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะเห็นถึงความท้าทาย แต่ไม่สามารถทราบผลลัพธ์ในอนาคตได้ เพราะจะเห็นได้ว่า หลังธนาคารพาณิชย์ฝั่งตะวันตกประสบปัญหา ได้มีการวางนโนยบายการเงินที่ออกนอกตำรา เช่นมีมาตรการอัดฉีดเงินิพื่อแก้ปัญหา แต่ก็มีผลข้างคียง ดังนั้นจึงจะเห็นความพยายามของแต่ละประเทศที่มีการใช้เครื่องมือแก้ปัญหาที่ไม่เคยคิดมาก่อน

2.ความพยายามปฎิรูปกฎหมาย ข้อบังคับ ในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ทั้งในระดับสากล และระดับประเทศ ซึ่งเห็นความพยายามของการพยายามออกกฎใหม่ๆ ในการกำกับดูแล เช่น บาเซิล 3 แต่ระบบการเงินแต่ละประเทศแตกต่างกัน ดังนั้นการนำกฎระเบียบใหม่ๆออกมาใช้จำเป็ฯต้องให้ประเทศอื่นๆมีความเห็นที่ตรงกันด้วย มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาได้

3. บทบาทของเอเซียในอนาคตที่จะเผชิญความท้าทายของตนเอง ซึ่งประเทศในเอเซียเผชิญความท้าทายในหล้ายด้าน และมีระดับการพัฒนาในหลายด้านเช่นกัน เช่น ในญี่ปุ่นที่ยังต้องการแหล่งทุนที่ทำให้ประเทศเติบโต และหลายต้องยังต้องอาศัยเงินทุนในต่างประเทศเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเติบโต

"ปัจจัยเหล่านี้มีอิทธิพลต่อระบบธนาคารพาณิชย์ แต่ไม่สามารถที่จะทราบผลลัพธ์สุดท้ายได้" ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

นอกจากนี้ ผู้ว่า ธปท. ยังกล่าวถึงแนวคิดของกระทรวงการคลังในการนำเงินคงคลังซึ่งฝากไว้ที่ ธปท.ไม่มีดอกเบี้ยนำไปลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนนั้น มองว่า กระทรวงการคลังคงต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดทางให้นำเงินคงคลังไปหาผลตอบแทนได้ เช่นการนำไปฝากไว้ที่ธนาคารพาณิชย์ แต่ทั้งนี้ผู้รับฝากจะต้องสามารถบริหารและดูแลสภาพคล่องให้คลังได้ด้วยเช่นกัน เพราะเงินคงคลัง จะมีการใช้เร็วและมีปริมาณมาก ดังนั้นการรับฝาก หรือถอนจะต้องบริหารสภาพคล่องให้ดี

"คลังมีเงินเหลือก็เอามาฝากไว้ที่แบงก์ชาติซึ่งไม่มีดอกเบี้ย ดังนั้นหากคลังต้องการได้ดอกเบี้ย ก็ไม่ว่าอะไร เพราะเงินคงคลังเป็นเงินส่วนที่เหลือที่ขาด ทางเลือกคือคลังอาจเอาไปบริหารเอง ก็สามารถนำเงินไปบริหารเองได้ เช่นฝากแบงก์พาณิชย์ แต่ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย" ผู้ว่า ธปท. กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ