นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยได้ขอให้สหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดหลักในการนำเข้าทูน่าแปรรูปจากไทย เลื่อนกำหนดบังคับใช้เงื่อนไขการละลายน้ำแข็งในทูน่าใหม่ในสิ้นปี 55 ออกไปก่อน โดยเงื่อนไขใหม่ให้ละลายน้ำแข็งที่อุณหภูมิ 21 องศาเซลเซียส และต้องปฏิบัติการไม่เกิน 12 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดขบวนการเน่าเสียหรือฮีสตามีน
กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างการเจรจาให้สหรัฐฯ จัดให้ไทยไปดูงานในที่ใดที่หนึ่งที่สามารถดำเนินการตามเงื่อนไขใหม่ดังกล่าวได้ แต่ยังไม่มีการตอบกลับจากทางสหรัฐ เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน อุณหภูมิทั่วไปสูงเกิน 28 องศาเซลเซียส จึงไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของสหรัฐได้ โดยการละลายน้ำแข็งทูน่าในปัจจุบัน ใช้อุณหภูมิ 28-35 องศาเซลเซียส ภายใน 16-20 ชั่วโมง แต่สามารถป้องกันกระบวนการฮีสตามีนได้ด้วยการควบคุมอุณหภูมิตลอดเส้นทางการขนส่งที่ 5 องศาเซลเซียส การเน่าเสียจึงเกิดขึ้นน้อยมาก
"หากสหรัฐประกาศใช้เงื่อนไขนี้จริง การแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการคือต้องย้ายไปตั้งโรงงานแปรรูปที่สหรัฐเท่านั้น เพราะในไทยไม่สามารถละลายน้ำแข็งได้"นายนิวัติ กล่าว
ส่วนปัญหาการนำเข้าปลาทูน่า ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่นำเข้ามาแปรรูปเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่มีปริมาณลดลง นายนิวัติ กล่าวว่า สาเหตุส่วนหนึ่ง เพราะไทยต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ ผู้ประกอบการลดกำลังการผลิตลงตามนโยบายการควบคุมการจับทูน่าของแต่ละแหล่ง แต่ยังไม่ถึงระดับรุนแรงที่จะต้องปิดโรงงานหรือลดแรงงาน ซึ่งการนำเข้าวัตถุดิบของไทยมาจากหลายประเทศ และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทูน่าของไทยคงต้องขยายตลาดนำเข้าให้มากขึ้น เพื่อให้ได้วัตถุดิบเพียงพอกับความต้องการ
ด้านนายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ในปัจจุบันผลผลิตปลาทูน่าที่จับได้มีปริมาณลดลง คือ จับได้ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี โดยประเทศในเอเชีย อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จับได้ปีละประมาณ 2.8 หมื่นตัน ส่วนใหญ่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปมากที่สุด โดยเฉพาะไทยนำเข้าทูน่าเป็นวัตถุดิบประมาณ 8 แสนตันต่อปี เพื่อแปรรูปส่งออก โดยปริมาณที่ต้องการใช้แต่ละเดือนอยู่ที่ 7 หมื่นตัน แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่ คือจัดหามาได้เพียง 5 หมื่นตันเท่านั้น
ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงในฐานะที่เป็นสมาชิกองค์กรดูแลโควตาการทำประมงทูน่าต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันต้องร่วมกับผู้ประกอบการทำวิจัยประมงทูน่าว่าจะทำอย่างไรให้ใช้ทรัพยากรได้อย่างถูกต้องในเชิงอุตสาหกรรม