In Focusกรณีอื้อฉาว ณ ธนาคารรายใหญ่และเก่าแก่ของอังกฤษ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 11, 2012 13:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารในตลาดลอนดอน (Libor) ถือเป็นหนึ่งในอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญที่สุดของอัตราดอกเบี้ยในแวดวงการเงิน ซึ่งเกี่ยวพันกับเงินกู้และสัญญาการเงินมูลค่าหลายล้านปอนด์

เมื่อบาร์เคลย์ ธนาคารรายใหญ่และเก่าแก่ของอังกฤษถูกปรับเป็นเงิน 451 ล้านปอนด์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่เทรดเดอร์ตราสารอนุพันธ์ของธนาคารพยายามปั่นอัตราดอกเบี้ย Libor ส่งผลให้ความเชื่อมั่นที่มีต่อภาคธนาคารสั่นคลอนจนแทบจะหมดสิ้น ท่ามกลางวิกฤตหนี้ยุโรปที่ยังคาราคาซัง

บ็อบ ไดมอนด์ ซีอีโอ, มาร์คัส เอเจียส ประธานธนาคาร และเจอร์รี เดล มิสเซียร์ ซีโอโอของธนาคารประกาศลาออกจากตำแหน่งหลังเกิดเหตุ เพื่อแสดงความรับผิดชอบ

สำนักงานบริหารการเงินของอังกฤษตรวจสอบพบว่า อัตราดอกเบี้ยเพื่อการกู้ยืมระหว่างธนาคารตลาดลอนดอนหรือ "Libor" และ "Euribor" หรืออัตราดอกเบี้ยเพื่อการกู้ยืมระหว่างธนาคารตลาดยุโรป ในช่วงปี 2548- 2552 นั้น มีการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ จากฝีมือเจ้าหน้าที่ของธนาคาร ส่งผลให้ลูกหนี้หลายล้านรายต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไปหรือต่ำเกินไปในการกู้เงิน

แกะรอยกรณีอื้อฉาวระลอกล่าสุด

2548 — เมื่อช่วงต้นปี 2548 นั้น มีหลักฐานบ่งชี้ว่า ธนาคารรายใหญ่ของอังกฤษแห่งนี้ พยายามที่จะปั่นอัตราดอกเบี้ย Libor และ Euribor ตามคำร้องขอของเทรดเดอร์ตราสารอนุพันธ์และแบงก์อื่นๆ

2550 — ในช่วงที่นอร์ทเทิร์น ร็อค ล่มสลาย หลายฝ่ายกังวลเรื่องอัตราดอกเบี้ย Libor โดยสื่อระบุว่าธนาคารรายใหญ่แห่งนี้ได้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย Libor เพื่อสร้างภาพว่า คุณภาพสินเชื่อและความสามารถในการระดมทุนของธนาคารนั้นอยู่ในสภาพที่ดีกว่าเดิม เนื่องจากการให้ข้อมูลอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำลงนั้น อาจจะทำให้เกิดความกังวลว่า ธนาคารมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง โดยในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินนั้น ทางบาร์เคลย์ก็ได้ติดต่อประสานงานกับสำนักงานบริหารการเงินของอังกฤษ และสมาคมนายธนาคารอังกฤษอยู่เสมอ แต่ไม่ได้มีการหารือกันเกี่ยวกับเรื่องข้อมูลที่เป็นเท็จ

2551 — ผู้จัดการฝ่ายเงินทุนของบาร์เคลย์ได้แจ้งกับสมาคมธนาคารฯว่า ทางธนาคารไม่ได้รายงานอย่างถูกต้อง แต่ก็ไม่วายแก้ต่าง ด้านสมาคมฯก็แจ้งให้บาร์เคลย์ทราบถึงความกังวลในเรื่องนี้

2552 — สมาคมธนาคารฯได้ออกคู่มือในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย Libor แก่ธนาคารต่างๆให้ดำเนินการในรูปแบบเดียวกัน แต่ทางบาร์เคลย์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบของตนเองแต่อย่างใด

2553 — บาร์เคลย์ได้ส่งอีเมลแจ้งไปยังผู้กำหนดตัวเลขให้กำหนดเกณฑ์พื้นฐานขึ้น และห้ามติดต่อกับเทรดเดอร์ภายนอกซึ่งอาจจะทำให้ถูกมองว่ากำลังพยายามที่จะตกลงกันหรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อตัวเลขของ Libor

2554 — รอยัล แบงค์ อ๊อฟ สกอตแลนด์ ไล่พนักงานที่มีส่วนพัวพันกับการปั่นอัตราดอกเบี้ย Libor ออก 4 ราย

2555 — เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา บาร์เคลย์ยอมรับว่ากระทำผิด ส่งผลให้สำนักงานบริหารการเงินของอังกฤษ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ คณะกรรมการกำกับดูแลการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าของสหรัฐ ต่างสั่งปรับบาร์เคลย์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 290 ล้านปอนด์

โปรไฟล์ของบ็อบ ไดมอนด์

บ็อบเข้าร่วมงานกับบาร์เคลย์ เมื่อปี 2539 โดยทำหน้าที่ในเครดิต สวิส เฟิร์สท์ บอสตัน และมอร์แกน สแตนลีย์ อินเตอร์เนชั่นแนลมาก่อน และก่อนหน้าที่จะมารับตำแหน่งซีอีโอนั้น บ็อบเป็นผู้บริหารของบาร์เคลย์ แคปปิตอล โดยมีเสียงเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากความผิดที่ถูกโยนเข้ามาในแผนกของเขา โดยเฉพาะภายหลังจากทที่นายเอเจียสประกาศลาออกจากตำแหน่ง

กรณีอื้อฉาวครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่บ็อบตกเป็นข่าวพาดหัวใหญ่โต ก่อนหน้านี้ เขามีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องของความร่ำรวย หลังจากที่มีชื่อติดโผผู้บริหารที่ได้รับเงินเดือนสูงสุดของบริษัทที่มีรายชื่ออยู่ในดัชนีฟุตซี่ 100

เมื่อปีที่แล้ว บ็อบมีรายได้ 20.9 ล้านปอนด์ ซึ่งประกอบไปด้วยเงินเดือน โบนัส และหุ้น แต่ก็มีการถกเถียงกันมานานเกี่ยวกับจำนวนรายได้ของเขา

เมื่อปี 2553 ลอร์ด แมนเดลสัน กล่างถึงเขาว่า เป็นผู้ที่ไม่สามารถยอมรับได้ในแวดวงธนาคาร และชี้ว่า เขาได้เงินเดือน 63 ล้านปอนด์จากการเล่นแร่แปรธาตุจากเอกสารที่มีอยู่ในมือ

ผลกระทบจากกรณีอื้อฉาว

สิ่งที่หลายฝ่ายวิตกกังวลก็คือ ความเสียหายที่เกิดจากปัญหาอัตราดอกเบี้ย Libor เมื่อใดที่ตลาดไม่ศรัทธาในแบงก์และ Libor สภาพคล่องในตลาดก็จะลดลง และต้นทุนการกู้ยืมของบริษัทเอกชนก็อาจจะสูงขึ้น รวมถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อสินเชื่อสำหรับโครงการขนาดใหญ่ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ย Libor เป็นดัชนีของเครื่องมือด้านตราสารหนี้จำนวนมหาศาล

โดยปกตินั้น ภาคเอกชนจะจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผูกติดกับอัตราดอกเบี้ย Libor หรืออัตราดอกเบี้ยที่เทียบเท่ากับสกุลเงินอื่นๆ การปั่นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่า อัตราดอกเบี้ยจะสะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนที่แท้จริงของการระดมทุนของผู้กู้หรือไม่

เงินกู้ถือเป็นทางเลือกในการระดมทุนที่ได้รับความนิยมน้อยลงสำหรับบริษัทในสหรัฐและยุโรป เงื่อนไขด้านเงินทุนที่มีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงจนทำให้เกิดวิกฤตการเงินทำให้ธนาคารมีต้นทุนในการขยายสินเชื่อมากขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทที่อยู่นอกภาคธุรกิจการเงินในสหรัฐ กู้เงินผ่านสินเชื่อสำหรับโครงการขนาดใหญ่และเครดิตไลน์ วงเงิน 4.83 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลง 13% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ขณะที่ปริมาณการกู้ยืมในยุโรปตกลง 25% มาอยู่ที่ 3.22 แสนล้านดอลลาร์

ข้อมูลจากฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า พันธบัตรสามารถแซงหน้าเงินกู้เป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยสถิติการออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้นั้น คิดเป็นสัดส่วนถึง 52% เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาตลอดทั้งปี 2554 ที่ 29%

อย่างไรก็ดี แคลร์ ดอว์สัน กรรมการผู้จัดการสมาคมคลาดสินเชื่อในลอนดอน กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ย Libor จะยังคงเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับตลาดสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ต่อไป

ทางการเดินหน้าหาต้นตอการปั่นอัตราดอกเบี้ยแบงก์อื่นๆ

สำนักงานปราบการฉ้อโกงขั้นรุนแรงได้ออกมายืนยันว่า ทางสำนักงานฯได้ดำเนินการสอบสวนเรื่องการปั่นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างธนาคารอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งอาจจะมีการดำเนินคดีเป็นรายบุคคลนับจากนี้ไป

ขณะที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐเองก็ได้ดำเนินการสืบสวนภายในประเทศเองด้วยเช่นกัน โดยโฆษกของสำนักงานปราบการฉ้อโกงฯได้ยืนยันว่า ทีมงานได้เริ่มเดินหน้าแล้ว แต่ไม่ได้ระบุว่าสอบสวนใครอยู่ โดยหน่วยงานด้านการกำกับดูแลในอังกฤษและสหรัฐชี้ว่า เจ้าหน้าที่ของบาร์เคลย์ได้พยายามที่จะปั่นอัตราดอกเบี้ยมาเป็นเวลาหลายปี การกระทำครั้งแรกนั้นมีเป้าหมายเพื่อทำกำไร แต่ครั้งต่อๆมามีวัตถุประสงค์เพื่อคลายความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่ธนาคารได้รับจากวิกฤตการเงิน

เอแดร์ เทอร์เนอร์ ประธานสำนักงานบริหารการเงินของอังกฤษได้ระบุในจดหมายว่า ดูเหมือนบาร์เคลย์มักจะหาทางเอาเปรียบด้วยการใช้โครงสร้างที่ซับซ้อน หรือใช้วีธีการโต้เถียงเรื่องแนวทางในการกำกับดูแลอย่างดุดัน ตลอดจนการตีความกฎหมายและการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมา ธนาคารได้ใช้วิธีการต่างๆนานา เพื่อให้บัญชีของธนาคารอยู่ในสภาพที่ดี และยังเคยทำให้หลายฝ่ายเข้าใจไปว่า อัตราส่วนเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงของธนาคารนั้น อยู่ในชั้นที่ 1 หรือสูงกว่า 10% ในการทดสอบภาวะวิกฤตที่ทางสำนักงานด้านการธนาคารยุโรปได้ดำเนินการทดสอบไปเมื่อปีที่แล้ว ทั้งที่อัตราส่วนเงินกองทุนที่แท้จริงของธนาคารอยู่ที่ 9.8%

เหล่านี้ คือ อีกตัวอย่างที่ทำให้ทางการ ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา ธนาคารกลางอังกฤษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาสะสาง และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอื้อฉาวซ้ำรอย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ