ส.อ.ท.ยังหวังส่งออกปีนี้โต 15% แม้หลายอุตสาหกรรมโดนพิษวิกฤติยูโรโซน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 11, 2012 15:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เชื่อมั่นว่า การส่งออกของไทยในปีนี้จะยังเป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่ตั้งไว้ที่ 15% ซึ่งถือเป็นเป้าหมายในเชิงรุกที่ต้องพยายามทำให้ได้แม้จะมีปัญหาวิกฤติขึ้นในยุโรปก็ตาม ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะต้องมีการแก้ไขเพื่อให้การส่งออกบรรลุตามเป้าหมาย

โดยยอมรับว่าขณะนี้มีหลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากวิกฤติยุโรปแล้ว ทั้งอุตสาหกรรมอัญมณี เนื่องจากลูกค้าชะลอการสั่งซื้อ, อุตสาหกรรมอาหารเกิดการชะงักงันบ้าง แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้วลูกค้าจะกล้บมาสั่งซื้อเหมือนเดิมเนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็น ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่ม มีการชะลอคำสั่งซื้อเช่นกัน ประกอบกับเป็นอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนสูงขึ้นจากค่าแรง ซึ่งได้เร่งหาตลาดอื่นๆ มาทดแทน เพราะยังมีความมั่นใจในสินค้าไทยที่มีจุดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

นายพยุงศักดิ์ ยังกล่าวในงานสัมมนา "วิกฤติเศรษฐกิจยุโรปและจีน ผลกระทบเศรษฐกิจโลกต่อการส่งออกไทย"ว่า ปัญหาในยุโรปขณะนี้ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการส่งออกของไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบในระยะกลางและระยะยาว ขณะเดียวกันการที่จีนปรับลดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้จากเดิม 7.5% เหลือ 7% โดยมีเป้าหมายลดการพึ่งพาตลาดส่งออก แต่มุ่งเน้นส่งเสริมเศรษฐกิจจากการบริโภคในประเทศมากขึ้นนั้น ถือเป็นปัจจัยที่ไทยต้องเตรียมรับมือแก้ปัญหาทั้งเชิงรุกและเชิงรับ

"วิกฤติเศรษฐกิจยุโรปและจีน เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรศึกษาและเข้าใจในวิกฤติที่เกิดขึ้น และหาทางรับมือกับความเสี่ยงทั้งในเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาล่วงหน้า และเชิงรับมือในทุกอุตสาหกรรม ไม่เฉพาะอุตสาหกรรม 10 อันดับแรก แต่ทุกภาคอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ" ประธาน ส.อ.ท.ระบุ

ทั้งนี้ ภาคเอกชนต้องมีความร่วมมือทั้งในแง่ของธนาคารพาณิชย์ที่ต้องเตรียมแผนรับมือและปรับตัวรับปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ขณะเดียวกันต้องร่วมมือกับรัฐบาลในการพัฒนาหาตลาดส่งออกใหม่ รวมถึงการแก้ไขกฎระเบียบ มาตรการภาษี ซึ่งที่ผ่านมาจากการหารือร่วมกับรัฐบาลได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้น 5 ชุด เพื่อวางแนวทางการทำงานมุ่งเป้าหมายในด้านต่างๆ เพื่อลดอุปสรรคและปัญหาของภาคเอกชน

ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา(ม.ค.-พ.ค.55) พบว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอมียอดส่งออกติดลบแล้ว 9.2% แต่หวังว่าในช่วง 7 เดือนหลังของปีนี้การส่งออกจะดีขึ้น อาจติดลบลดลงเหลือ 7% หรือถ้าเลวร้ายสุดก็ติดลบ 10% แต่หากรวมทั้งอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอมีโอกาสติดลบถึง 15% ซึ่งทั้งหมดเป็นผลกระทบจากวิกฤติยุโรปทั้งสิ้น เนื่องจากหลังเกิดปัญหาในยุโรปทำให้ยุโรปหันไปซื้อสินค้าที่ถูกลงจากเวียดนาม, กัมพูชา, จีน, บังคลาเทศ ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งของไทย ในขณะที่ต้นทุนการผลิตสินค้าของไทยสูงกว่าฐานการผลิตในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศรวมถึงนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นแรงกระตุ้นให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศมากขึ้น ทั้งในลาว, พม่า, กัมพูชา โดยขณะนี้พบว่ามีการย้ายฐานการผลิตไปแล้ว 15 บริษัท คิดเป็นมูลค่าการส่งออกถึง 20% ของอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ โดยทั้ง 15 บริษัทอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงาน คาดว่าจะเห็นการย้ายฐานการผลิตชัดเจนราวกลางปี 56

"อุตสาหกรรมสิ่งทอ พยายามยึดฐานการผลิตเดิม ซึ่งกำลังการผลิตในไทยยังมีอยู่แต่ไม่ขยายการลงทุน แต่เพิ่มกำลังการผลิตในต่างประเทศ เพราะปัญหาการขาดแคลนแรงงานในไทย แม้จะมีการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท และปีหน้าขึ้นค่าแรงอีกรอบ ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดมีโอกาสเห็นการปิดโรงงานอีกมาก เพราะแข่งขันไม่ได้" รองประธาน ส.อ.ท.กล่าว

นายวัลลภ มองว่า ไทยยังเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้ แต่ต้องเพิ่มการพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื่องจากอุตสาหกรรมของไทยใช้เทคโนโลยีการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แต่อาจจะเห็นการไปหาฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะมีรูปแบบการผลิตเหมือนในฮ่องกง กล่าวคือใช้วิธีจ้างแรงงานจากประเทศที่มีการจ้างงานราคาถูกเพื่อให้ผลิตสินค้าในแบรนด์ของตัวเอง

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลปรับลดภาษีเงินได้จากการไปลงทุนในต่างประเทศ แม้ก่อนหน้านี้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง จะไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ ซึ่งมองว่านายกิตติรัตน์ อาจจะมีความเป็นห่วง Transfer Pricing ซึ่งตนจะเสนอแนวทางแก้ไขโดยให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) เป็นเจ้าภาพ เพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ แต่ต้องแก้ไขกฎหมายบีโอไอ และวางหลักเกณฑ์ของการเข้าลงทุน กำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของการลงทุน ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีความเป็นไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ