เอกชนครวญส่งออกลำบากขึ้น ประสานเสียงอ้อนภาครัฐช่วยเหลือฝ่าวิกฤตยูโรโซน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 11, 2012 16:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ภาคเอกชน แนะภาครัฐยื่นมือเข้าช่วยเหลือด้านการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตยูโรโซน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพารา สิ่งทอ อาหารทะเล ที่ต้องอาศัยพึ่งพาตลาดยุโรปเป็นตลาดส่งออกหลัก แม้ส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า Euro Crisis ไม่น่ากลัวเท่า Hamburger Crisis ที่เกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วนทำให้ตลาดเงินตลาดทุนทุกอย่างช็อคกันไปหมด แต่ Euro Crisis ผลที่ได้รับคือการขายสินค้ามีความยากลำบากมากขึ้น พร้อมเสนอแนะภาครัฐให้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือภาคธุรกิจไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานหอการค้าไทย กล่าวในการเสวนา"ทางรอดส่งออกไทยภายใต้วิกฤตอียู"ว่า การส่งออกขณะนี้เริ่มมีผลกระทบจากปัญหาหนี้ในยูโรโซน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอัญมณี เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยางพารา สิ่งทอ กุ้ง และเครื่องจักรกล ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือสภาพคล่องทางการเงินของผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี)

ดังนั้น ภาคเอกชนจึงเสนอมาตรการให้รัฐบาลพิจารณา ดังนี้ ช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องทางการเงินของผู้ประกอบการในเรื่องของซอฟท์โลน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอี ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ช่วยหาวงเงินมาสนับสนุนการทำธุรกิจของเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงเอสเอ็มอีแบงก์, ช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องการประกันการส่งออก ซึ่งจากการหารือกับนายกรัฐมนตรีล่าสุด ทราบว่าขณะนี้รัฐบาลได้มีการตั้ง 6 คณะทำงานขึ้นมาดูแลภาคเอกชนแล้ว

นอกจากนี้ ภาครัฐต้องดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ไม่ให้เกิดกรณีเช่น 2 ปีที่แล้วที่ค่าเงินสกุลอื่นๆ อ่อนค่ากันหมดแต่เงินบาทกลับวิ่งสวนทางแข็งค่าอยู่เพียงสกุลเดียว รวมถึงการหาตลาดใหม่ รักษาตลาดเดิม และเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน คาดว่าจะบรรเทาผลกระทบได้ระดับหนึ่ง

ด้านนายสมชาย พรจินดารักษ์ นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ กล่าวว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นธุรกิจอันดับต้นๆที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตยูโรโซน เนื่องจากประเทศไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเป็นมูค่า 12,300 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2554 ตลาดส่งออกหลักคือยุโรป ซึ่งตั้งแต่เกิดวิกฤตยูโรโซนมาจนถึงตอนนี้พบว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกอัญมณีลดลง 17.4% เหลือ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เที่ยบกับช่วง 5 เดือนแรกของปี 2554 ที่ส่งออกอัญมณี 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผลมาจากประเทศต่างๆในยุโรปที่เป็นผู้นำเข้าอัญมณีจากไทยประสบปัญหา เช่น สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี UK เดนมาร์ก ฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นห่วงว่า หากสถานการณ์ยุโรปยังยืดเยื้อต่อไป อาจจะเกิดปัญหาตามมาเหมือนวิกฤต Hamburger Crisis เช่น ผู้ส่งออกไม่ได้รับการชำระค่าสินค้า ผู้ส่งออกขาดสภาพคล่องทางการเงินไม่มีทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ผู้ส่งออกขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่สำคัญคือผู้ส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอีมีสายป่านสั้นอาจจะประสบปัญหาขาดทุนหนักจนต้องเลิกกิจการไป

ทั้งนี้ ได้เสนอแนะวิธีรับมือและการปรับตัวของธุรกิจ คือ รุกตลาดส่งออกในยุโรปที่ยังดีอยู่ เช่น เยอรมนี เบลเยี่ยม ส่วนตลาดที่มีปัญหาก็ต้องรักษาและประคับประคองเอาไว้ ไม่ให้ตกต่าไปมากกว่านี้ และป้องกันไม่ให้คู่แข่งแย่งลูกค้าไป ขณะเดียวกันก็ต้องหาตลาดใหม่เพื่อทดแทนตลาดเก่า เช่น ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง รัสเซีย อาเซียน แอฟริกา และละตินอเมริกา ซึ่งควรจะดำเนินการอย่างรวดเร็ว ในส่วนนี้รัฐบาลควรร่วมออกค่าใช้จ่ายของเอกชนที่เดินทางไปโรดโชว์ ในตลาดใหม่ ๆ เหล่านั้น

นอกจากนี้ ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือดูแลสนับสนุนโดยเฉพาะเรื่องมาตรการภาษี โดยเฉพาะการจัดเป็นพื้นที่ฟรีเทรดโซน โดยมี Grace Period 1 เดือน ในงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair (BGJF) ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับระดับนานาชาติติด Top 5 ของโลก และก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 2.46 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 20% ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 12,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

"การให้ฟรีเทรดโซน โดยมี Grace Period 1 เดือน ในงาน BGJF เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ เพราะปัจจุบันประเทศที่คยมีกำแพงภาษีสูง ๆ ต่างก็ได้ลดลงมาอย่างมากเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศของตน เช่น จีน ลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 17% เหลือ 4% ในการซื้อขายสินค้าผ่าน Diamond Exchange ที่เซี่ยงไฮ้, อนเดีย เก็บภาษีเพียง 1% ส่วนฮ่องและสิงคโปร์เป็น Free Port ภาษีเป็น 0%"นายสมชาย กล่าว

ส่วนนายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า ในส่วนของยางพาราได้รับผลกระทบจากวิกฤตยูโรโซนบ้าง แต่ไม่มากเพราะตลาดส่งออกหลักของสินค้ายางอยู่ในแถบเอเชีย ประเทศผู้นำเข้าสำคัญคือจีนและเป็นผู้ใช้ยางเบอร์ 1 ของโลก แต่ผลจากวิกฤตยูโรโซนก็ทำให้ต่างประเทศชะลอการใช้จ่ายลงไปบ้าง

แต่เมื่อดูตัวเลขยอดการส่งออกยางพาราในช่วงครึ่งปีแรก พบว่า ยังใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และยังไม่เห็นสัญญาณลบจากผู้ค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ แม้ว่าจะเกิดปัญหาภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มซบเซา เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในแถบยุโรป

นายหลักชัย ยังเสนอแนะภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาด้วยการอัดฉีดงบประมาณ 15,000 ล้านบาท (โครงการ 15,000 ล้านบาท) ที่ผ่านความเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้นำไปรับซื้อยางจากเกษตรกรในราคา 120 บาท/กก.ให้รวดเร็ว ซึ่งหากงบประมาณไม่พอก็ควรจะมีการจัดสรรเพิ่มเติม ให้องค์การสวนยางกว้านซื้อยางจากเกษตรกรและเก็บไว้ในสต็อกยังไม่ต้องเอาออกมาขาย รอให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นแล้วค่อยจำหน่าย และให้เกษตกรชาวสวนยางสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น

"ทำให้ตลาดมั่นใจ ทำให้เกษตรกรมั่นใจ จะได้ไม่ต้องมีการออกมาเรียกร้อง ซึ่งราคา 100 บาท/กก.เกษตรกรก็พอใจแล้ว"นายหลักชัย กล่าว

ขณะที่นายสมพร จิตเป็นธม รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตหนี้อียู เป็นผลกระทบที่จะยืดเยื้อยาวนาน และจะส่งผลต่อการส่งออกไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ อาเซียน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย มีการส่งออกไปยังอียูด้วย

"หากสหรัฐฯ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศด้วยการออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณเงินรอบที่ 3 (Quantitative Easing หรือ QE3) จะทำให้เงินล้นเข้ามาในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้น การส่งออกจะยิ่งแข่งขันได้ลำบากมากขึ้น"นายสมพร กล่าว

อย่างไรก็ตามให้จับตา ฮ่องกงและสิงคโปร์เพราะมีการพึ่งพาตลาดในอียูเป็นจำนวนมากหาก 2 ประเทศนี้ได้รับผลกระทบเมื่อไหร่ถือเป็นสัญญาณเชิงลบต่อการส่งออกของเอเชีย

นายสมพร ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ ธสน.กำลังวางมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการหลายด้าน เช่น การผ่อนปรนอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระ เนื่องจากขณะนี้การรับประกันส่งออกเริ่มมีผลกระทบแล้ว โดยมีลูกค้าเอาประกันทั้งหมด 250 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ส่งออกไปยุโรปถึง 160 ราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ