แวดวงตลาดเงินตลาดทุนมองประเทศไทยหลังผ่านวิกฤติปี 40 มา 15 ปีที่ผ่านมาการเติบโตเศรษฐกิจไทยไม่ได้สูงมากเฉลี่ยปีละประมาณ 5% และแนวโน้มเรื่องความสามารถการแข่งขันในระยะยาวต่ำกว่าชาติอื่น ระบุคนไทยติดกับดักประชานิยม ทำให้พึ่งพารัฐบาลมากเกินไป ไม่สามารถก้าวข้ามเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้ และติดกับดักคอร์รัปชั่น ซึ่งการเมืองเป็นต้นตอสำคัญทำให้เกิดกับดักต่างๆ วอนเร่งช่วยกันปฏิรูปด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา ทัศนคติ สังคม พร้อมกระตุ้นให้เอกชนหันมาลงทุนมากขึ้น
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บล.ภัทร (PHATRA) กล่าวในงานสัมนาหัวข้อ"15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน"ว่า ในช่วง 15 ปีหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจไทยในปี 40 กำไรของเอกชนเติบโตขึ้น 350% ซึ่งถือว่าเติบโตมาก โดยโครงสร้างมาจากเอกชน 30% ของจีดีพี
ทั้งนี้ เห็นว่าไทยได้แก้ปัญหาวิกฤติด้านราคาจากอัตราแลกเปลี่ยน 25 บาท/เหรียญ เป็น 30 บาท/เหรียญ แต่ในแง่การเติบโตของเศรษฐกิจไม่ได้ดีนักในช่วง 15 ปี โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยไม่ถึง 5% ต่อปี ถือว่าเป็นระดับไม่ดีนัก
"สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือทัศนคติของสังคม ซึ่งเป็นสังคมอุปถัมภ์ ทำให้การปฏิรูปต่างๆไม่มี...เป็นเรื่องน่าห่วง เพราะสังคมเป็นสังคมอุปถัมภ์ รัฐต้องเข้ามาประกันราคาข้าว ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การศึกษาไม่ได้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน" นายบรรยง กล่าว
นายบรรยง กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการผลิต(Productivity)การสร้างนวัตกรรมใหม่ ขณะที่การคอร์รัปชั่นยังมีอยู่ในสังคมไทย ซึ่งมีทัศนคติที่ยอมรับกันได้หากได้รับประโยชน์ด้วย
อย่างไรก็ดี นายบรรยง กล่าวถึงปัญหาการเมืองที่ยืดยื้อมานานว่า ในทางเศรษฐศาสตร์ เสถียรภาพทางการเมืองถือว่าสำคัญ เพราะสิ่งที่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต้องการมากที่สุดคือความแน่นอน ในที่นี้ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นความขัดแย้ง แต่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนนโยบายบ่อยครั้ง ซึ่งจะกระทบต่อการลงทุนอยู่แล้ว และหากในระยะสั้นเกิดความขัดแย้งทางการเมืองการลงทุนจะชะงักงัน แต่หากร้ายแรงถึงขั้นจลาจลจะยิ่งกระทบหนักต่อการท่องเที่ยว รวมถึงภาคการผลิต และอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนลดลงไปอีก
ด้านนายวิรไท สันติประภพ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มองว่า สภาพสังคมไทยที่ใช้ขีวิตกันสบาย คนรุ่นใหม่ไม่มีวินัยการใช้เงิน ทั้งนี้ ไทยติดกับดัก 3 ข้อ ได้แก่ กับดักที่ไม่สามารถยกระดับประเทศเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ทั้งที่ก่อนเกิดวิกฤติปี 40 ไทย มาเลเซีย และเกาหลีใต้มีรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกัน แต่ปัจจุบัน เกาหลีใต้ มีรายได้เกิน 12,000 เหรียญต่อปี แต่ไทยกลับมีรายได้ต่อหัว 5,000 เหรียญ/ปี ซึ่งมาเลเซียมีรายได้สูงกว่าไทย
นอกจากยังติดกับดักประชานิยม โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาระบบการเมืองได้ใช้นโยบายประชานิยม รัฐบาลต้องรับภาระทุกเรื่อง เพื่อหวังฐานคะแนนเสียง ซึ่งนำไปสู่การไม่ต้องสร้างวินัย แต่อิงกับระบบอุปถัมภ์ ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดความเหลือมล้ำมากขึ้น รวมทั้ง ติดกับดักคอร์รับชั่น
"เราบริหารเศรษฐกิจ เป็นมาตรการสั้นๆ ไม่ได้เป็นนโยบาย ทำให้ติดกับดักประชานิยม ดึงให้เราไหลลงเร็วมากๆ ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีการแข่งขันลดลง" นายวิรไท กล่าว
นายวิรไทย มองว่า ในรยะยาว 3 ปี ธุรกิจไทยจะมีความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกน้อยลง ขณะที่นักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ไม่กล้าลงทุนเพราะไม่เชื่อมั่นว่าลงทุนไปแล้วจะเจอแทรกแซงจากภาครัฐหรือไม่ในอนาคต ทั้งนี้ระบุว่า การเมืองเป็นต้นตอทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ และการคอร์รับชั่น
ขณะที่นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิ แอดไวเซอร์ จำกัด เห็นว่า การลงทุนของไทยหายไปมากทั้งการลงทุนในประเทศ และทุนไทยที่ออกไปลงทุนต่างประเทศ รวมทั้งทุนต่างประเทศเข้าลงทุนในไทย โดยใน 5 ปีที่ผ่านมาการลงทุนของต่างชาติ (FDI) ไทยยังขาดแคลน ขณะที่เวียดนามเติบโต 4 เท่า มาเลเซียโต 2 เท่า และอินโดนีเซียโต 1.6 เท่า
"ภาพทุกวันนี้ เรากินบุญเก่า แต่ไม่พยายามสร้างบุญใหม่ ...ถ้าเราปล่อยไปตามยถากรรม เราก็จะเหมือนกับฟิลิปปินส์" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว