"เจพีมอร์แกน"เผยขาดทุนธุรกิจเทรดดิ้ง $4.4 พันล้าน ฉุดกำไร Q2 ร่วง 9%

ข่าวต่างประเทศ Friday July 13, 2012 20:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เจพีมอร์แกน เชส ธนาคารรายใหญ่สุดของสหรัฐ ขาดทุนในธุรกิจเทรดดิ้งเป็นวงเงินสูงถึง 4.4 พันล้านดอลลาร์ จากหน่วยงาน Chief Investment Office ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านบริหารความเสี่ยงของเจพี มอร์แกน ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขาดทุน 4 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้กำไรไตรมาสสองร่วงลง 9% มาอยู่ที่ระดับ 4.96 พันล้านดอลลาร์ จากไตรมาสสองปีที่แล้วที่ระดับ 5.43 พันล้านดอลลาร์ หรือปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1.21 ดอลลาร์ต่อหุ้น จากระดับ 1.27 ดอลลาร์ต่อหุ้น

จากการขาดทุนด้านเทรดดิ้งในแผนกดังกล่าว อาจทำให้เจมี ไดมอนด์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) วัย 56 ปีเผชิญความยุ่งยากในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมา หลังจากเจพีมอร์แกนขาดทุนราว 3.97 หมื่นล้านดอลลาร์ในแง่ของมูลค่าการตลาดนับตั้งแต่วันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา

ราคาหุ้นเจพีมอร์แกนปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่านายวอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐกิจนักลงทุนชื่อดังของสหรัฐและผู้ถือหุ้นเจพีมอร์แกน กล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า เขายังคงเชื่อมั่นในความสามารถของนายไดมอน และมองว่านายไดมอนเป็นหนึ่งในนายธนาคารที่ดีที่สุดในโลก เพราะมีความเข้าใจด้านการธนาคารและความเสี่ยงเป็นอย่างดี

ในช่วงกลางเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ตลาดการเงินทั่วโลกตกอยู่ในภาวะตื่นตระหนก หลังจากเจพีมอร์แกนออกมายอมรับว่า ธนาคารขาดทุนอย่างไม่คาดคิดจากการทำธุรกิจเทรดดิ้งเป็นวงเงินทั้งสิ้น 2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลมาจากการเก็งกำไรที่ผิดพลาดในตราสารอนุพันธ์ของ Chief Investment Office ขณะที่นายไดมอนกล่าวย้ำว่า การขาดทุนครั้งนี้มีสาเหตุมาจาก "ความผิดพลาด, ความประมาท และการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้อง"

จากนั้นในช่วงปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของเจพีมอร์แกนลง 2 ขั้น เช่นเดียวกับมอร์แกน สแตนลีย์, ซิตี้กรุ๊ป และโกลด์ แมนแซคส์ โดยมูดีส์กล่าวว่า ธนาคารทุกแห่งที่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงสูงที่จะขาดทุนจากการลงทุนในตลาดทุน นอกจากนี้ แนวโน้มของศักยภาพในการทำกำไรระยะยาวและการเติบโตของธนาคารทั้ง 15 แห่ง ก็ลดน้อยลงด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ