รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มการทำประชาพิจารณ์เมื่อวันเสาร์ก่อนที่จะมีการกำหนดนโยบายใหม่ด้านพลังงานในเดือนส.ค. ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ หลังเกิดวิกฤตนิวเคลียร์ที่โรงงานฟูกุชิมะ ไดอิชิเมื่อปี 2554
รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มทำประชาพิจารณ์ที่จะมีขึ้นทั่วประเทศ ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่าช่วงระยะเวลา 1 เดือนก่อนการตัดสินใจนโยบายใหม่เป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไป และจะเป็นเรื่องยากสำหรับรัฐบาลในการรวบรวมความคิดเห็นในช่วงเวลาที่ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่ต่อต้านและกลุ่มที่สนับสนุนนิวเคลียร์
ในการทำประชาพิจารณ์ครั้งแรกที่มีขึ้นในเมืองไซตามะนั้น รัฐบาลได้ระบุถึงทางเลือก 3 ทางในการลดสัดส่วนกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ภายในปี 2573 มาสู่ระดับ 0%, 15% หรือ 20-25% ของกระแสไฟฟ้าทั้งหมด เมื่อเทียบกับ 26% ในปี 2553
นายยูกิโอะ เอดาโน รมว.เศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นกล่าวว่า รัฐบาลจะ “รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างระมัดระวัง เนื่องจากการตัดสินใจของเราในครั้งนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้คนรุ่นต่อๆไปและประชาคมระหว่างประเทศ"
ผู้ที่ร่วมทำประชาพิจารณ์ที่ไซตามะรายหนึ่งกล่าวว่า เขาสนับสนุนแผนการที่จะลดสัดส่วนพลังงานนิวเคลียร์ลงเหลือ 15% ขณะที่ญี่ปุ่นควรยังคงมีพลังงานนิวเคลียร์ไว้เป็นทางเลือกหนึ่ง ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอนในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์น้ำมันรายใหญ่แก่ญี่ปุ่น สำนักข่าวเกียวโดรายงาน