นางกฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในอีกไม่ช้านี้ ภูมิภาคเอเชียจะมีความโดดเด่นขึ้น จากความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกที่สืบเนื่องมาจากภาคการเงินและการธนาคารของประเทศในภูมิภาคตะวันตกอ่อนแอลง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ในเอเชียเข้าไปมีบทบาทในการปล่อยกู้เพื่อลงทุนสำหรับภาคธุรกิจต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจและการเงินอย่างจีนและญี่ปุ่น ที่ธนาคารพาณิชย์เริ่มเข้าไปมีอิทธิพลกับนักลงทุนและภาคธุรกิจต่าง ๆ แทนสถาบันการเงินจากตะวันตกอย่างเห็นได้ชัด สถานการณ์ดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณบ่งชี้ว่าเมื่อประเทศมหาอำนาจมีความอ่อนแอทางด้านเศรษฐกิจ ก็เป็นโอกาสที่ดีของตลาดทุนในเอเชียจะค่อย ๆ ซึมเข้าไปแทนที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากการกล่าวปาถกฐาของผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในงานเสวนาเรื่อง “วิกฤตทางการเงินโลกและอนาคตของธนาคารโลกและเอเชีย” ในงาน Asia in Transfomation, Sasin Bangkok Forum ที่จัดขึ้นไม่เมื่อนานมานี้ ซึ่งได้ระบุว่าหากรัฐบาลจะนำเงินคงคลังไปหาผลประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ ก็สามารถทำได้ แต่ต้องมีการแก้กฎหมายให้สามารถนำเงินไปฝากกับธนาคารพาณิชย์เพื่อได้ดอกเบี้ยจากการลงทุน หรือแม้กระทั่งการสนับสนุนให้นักลงทุนไทยนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเงิน
"ไม่ใช่เฉพาะจีนและญี่ปุ่นเท่านั้น ที่ได้ขยายอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย แม้กระทั่งตลาดทุนของไทยเองก็เริ่มแสวงหาโอกาสจากสถานการณ์ของโลก ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น" นางกฤษติกา กล่าว
แต่ปัญหาหนึ่งที่ผู้นำของแต่ละประเทศจะต้องเผชิญและร่วมมือกันแก้ไข คือ ความไม่มั่งคงทางด้านการเมืองและปัญหาความแตกต่างด้านโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศของตนเอง เนื่องจากภาวะการค้าและการลงทุนที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ทั่วโลก หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันได้ จะส่งผลกระทบในวงกว้างและลุกลามไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียได้ ดังนั้น การลงทุนจะต้องพิจารณาจากปัจจัยภายนอกประเทศด้วยว่าประเทศคู่ค้ามีสิ่งแวดล้อมทางการตลาดอย่างไร หรือมีความเสี่ยงจากปัจจัยรอบข้างมากน้อยแค่ไหน
"สิ่งแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อชาติต่าง ๆ ไม่ใช่เฉพาะในเอเชียเท่านั้นแต่ทั่วโลกจะต้องเร่งพัฒนาและแก้ไขจุดอ่อนดังกล่าว เพื่อรับมือกับปัญหาและความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลงทุนของต่างชาติ แม้ว่านักลงทุนทั่วโลกเบนเข็มเข้าสู่ตลาดใหม่ในภูมิภาคเอเชีย แต่ปัญหาความไม่แน่นอนและความวุ่นวายทางการเมืองที่รุนแรงในบางประเทศ ทั้งปัญหาการสู้รบและการจลาจลซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาพรวมของภูมิภาคและเป็นสาเหตุหลักของความแตกต่าง ทำให้เกิดความได้เปรียบและเสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ยกตัวอย่าง เช่น ประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่จะมีการรวมตัวกันอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ซึ่งยังมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมภายใน ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างประเทศ เชื่อว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ดังนั้นจะต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดเสรี" นางกฤติกา กล่าว