นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศร่วมกับสำนักงานพาณิชย์ฯ ณ กรุงวอชิงตันได้ยื่นคำร้องขอผ่อนผันไม่ให้สหรัฐฯ ระงับสิทธิ GSP แก่สินค้าไทย ซึ่งเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2555 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ประกาศคงสิทธิ GSP ให้แก่สินค้าไทยรวมทั้งสิ้น 12 รายการ ในกรณี 1) CNLs Waivers จำนวน 2 รายการ 2) De Minimis Waivers จำนวน 10 รายการ โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สำหรับสินค้าที่สหรัฐฯ คงสิทธิ GSP ไทยในกรณี Competitive Need Limit Waiver (CNL Waiver) สินค้าที่มีมูลค่านำเข้าเกินเพดาน CNL ที่สหรัฐฯ กำหนด (ปี 2554 เท่ากับ 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) จำนวน 2 รายการ คือ ถุงมือยาง และ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ทั้งนี้การผ่อนผันจะทำให้ไทยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ จากอัตราภาษีปกติที่จัดเก็บร้อยละ 3 และ 1.4 ตามลำดับ
ส่วนกรณี De Minimis Waivers สินค้าที่มีส่วนแบ่งตลาดเกินร้อยละ 50 แต่มูลค่าที่สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าดังกล่าวต่ำกว่ามูลค่าขั้นต่ำที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ (ปี 2554 เท่ากับ 20.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) จำนวน 10 รายการ ได้แก่ ปลาปรุงแต่ง, ทุเรียนสด, มะละกอตากแห้ง, น้ำตาลฟรักโทส, ข้าวโพดหวานปรุงแต่, ผลไม้/ถั่วปรุงแต่งด้วยน้ำตาล, มะละกอแปรรูป, น้ำเชื่อมแต่งกลิ่น/รสหรือแต่งสี, หนังกระบือฟอก และ รูปปั้นพอร์ซเลน ทั้งนี้การผ่อนผันจะทำให้ไทยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ จากอัตราภาษีปกติที่จัดเก็บร้อยละ 1.8 - 8
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP สินค้าจำนวน 2 รายการ คือ 1) สินค้าเครื่องประดับเงิน (พิกัด 7113.11.50) ซึ่งจะต้องเสียภาษีปกตินำเข้าสหรัฐฯ ในอัตราร้อยละ 5
2) สินค้ายางเรเดียลสำหรับรถบรรทุก (พิกัด 4011.20.10) ซึ่งจะต้องเสียภาษีปกตินำเข้าสหรัฐฯ ในอัตราร้อยละ 4 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ไทยเคยได้รับยกเว้นเพดานนำเข้า (CNL Waiver) มาแล้วอย่างน้อย 5 ปี และมีมูลค่านำเข้าสหรัฐฯ เกินเพดาน (ปี 2554 เท่ากับ 225 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ที่สหรัฐฯ กำหนด แม้ว่ากรมการค้าต่างประเทศและสำนักงานพาณิชย์ฯ ณ กรุงวอชิงตันจะร่วมกันยื่นคำร้องขอผ่อนผันต่อ USTR และโน้มน้าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม
"สำหรับสินค้าที่ไทยได้รับสิทธิ GSP สหรัฐฯ จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าทุกรายการ ดังนั้น ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกควรเร่งใช้ประโยชน์จากสิทธิ GSP ที่ไทยยังคงได้รับให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มมูลค่าส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ให้มากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย" รมว.พาณิชย์ กล่าว