เหตุการณ์สำคัญที่นักลงทุนทั่วโลกจับตาดูในวันนี้ ก็คือการที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะแถลงมุมมองเศรษฐกิจต่อคณะกรรมาธิการบริการด้านการเงินแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ และคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภาสหรัฐ ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันนี้และสิ้นสุดลงในวันพุธ ตามเวลาสหรัฐ โดยคาดกันว่าประเด็นสำคัญที่สมาชิกสภานิติบัญญัติจะมีการตั้งกระทู้ถามนายเบอร์นันเก้จะเกี่ยวข้องกับแผนการที่จะเริ่มพันธบัตรรอบใหม่
นักลงทุนและนักวิเคราะห์ต่างก็รอดูด้วยความคาดหวังเฟดจะเริ่มดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบใหม่ หรือ QE3 โดยมาตรการดังกล่าวเป็นสิ่งที่เฟดจะนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อเผชิญภาวะย่ำแย่ ขณะที่รายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบาย (FOMC) ประจำวันที่ 19-20 มิ.ย.ที่มีการเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบุถึงภาวะชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการขยายตัวด้านการจ้างงานในช่วงที่ผ่านมา แต่จำเป็นต้องมีความชัดเจนมากขึ้นในการสนับสนุนการซื้อพันธบัตรรอบใหม่
เมื่อเร็วๆนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดหลายรายต่างก็ออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงบวกต่อแนวคิด QE3 โดยนายเอริค โรเซนเกรน ประธานเฟดสาขาบอสตัน เปิดเผยในการสัมมนาทางเศรษฐกิจที่กรุงเทพฯว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 (QE3) เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐจำเป็นต้องมีการขยายตัวมากขึ้นอย่างมาก หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย.ที่น่าผิดหวัง โดยมีการจ้างงานเพิ่มเพียง 80,000 ราย ซี่งต่ำกว่าคาด และอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 8.2%
นอกจากนี้ นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก กล่าวว่าสหรัฐจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นทางการเงินจากเฟดมากขึ้นผ่านทางการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบใหม่ หรือ QE3 เมื่อพิจารณาถึงข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในช่วงที่ผ่านมา โดยนายวิลเลียมส์กล่าวว่าเขาต้องการให้มีการซื้อพันธบัตรรอบ 3 หรือการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ซึ่งเป็นมาตรการพิเศษทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเพิ่มปริมาณเม็ดเงิน
ทางด้านสมาชิกสภานิติบัญญัติมีแนวโน้มจะให้น้ำหนักกับข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอในช่วงที่ผ่านมาและแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงในการกดดันให้เฟดดำเนินมาตรการต่อไป โดยจะมีการจับตาสัญญาณบ่งชี้จากนายเบอร์นันเก้เกี่ยวกับรูปแบบของ QE3 ซึ่งอาจจะเป็นการซื้อหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองบ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน แทนที่จะเป็นการซื้อพันธบัตรรัฐบาลในการผ่อนคลายทางการเงินรอบนี้
ข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังล่าสุดที่สหรัฐเปิดเผยเมื่อคืนวันจันทร์แสดงให้เห็นว่ายอดค้าปลีกเดือนมิ.ย.ปรับตัวลดลง 0.5% ตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยยอดค้าปลีกทำสถิติร่วงลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เนื่องจากความต้องการสินค้าปรับตัวลดลงทุกรายการ ตั้งแต่สินค้าอิเล็กทรอนิก ไปจนถึงรถยนต์ และวัสดุก่อสร้าง โดยข้อมูลดังกล่าวนับเป็นการตอกย้ำถึงภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนแอ
นอกเหนือจาก QE3 แล้ว ตลาดยังจับตาดูว่าประธานเฟดจะส่งสัญญาณถึงการดำเนินมาตรการอื่นๆหรือไม่ หลังจากในการประชุมนโยบายครั้งล่าสุดในเดือนมิ.ย. เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed funds rate) ที่ระดับ 0-0.25% พร้อมกับขยายเวลาการใช้มาตรการ Operation Twist ไปจนถึงสิ้นปี 2555 โดยมีเป้าหมายที่จะฉุดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ปรับตัวลดลง
หลังจากที่เฟดได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ใกล้ 0% มานับแต่ปลายปี 2551 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น นักวิเคราะห์คาดกันว่าหากเฟดยังไม่พร้อมที่จะเริ่มแผนการซื้อพันธบัตรอย่างเต็มรูปแบบ ก็อาจจะมีการใช้มาตรการย่อยอื่นๆ โดยมาตรการอื่นที่นายเบอร์นันเก้อาจส่งสัญญาณได้รวมถึงการชะลอระยะเวลาในการปรับขึ้นดอกเบี้ยออกไปเป็นปี 2558 หรือดำเนินการตามธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ที่เฟดจ่ายให้กับธนาคารต่างๆที่นำเงินสำรองส่วนเกินมาฝากไว้กับเฟด
ส่วนปัญหาวิกฤตหนี้ในยุโรปก็ยังคงเป็นประเด็นที่น่าวิตก โดยจะมีการจับตาสัญญาณบ่งชี้ว่าเฟดจะพิจารณามาตรการใดๆที่นอกเหนือจากการสร้างความมั่นใจตว่าระบบการธนาคารของประเทศมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรับมือผลกระทบจากเหตุไม่คาดฝันที่จะเกิดขึ้นในยุโรปหรือไม่ และสมาชิกสภานิติบัญญัติอาจตั้งกระทู้ถามนายเบอร์นันเก้ประเด็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ปีนี้ ขยายตัวช้าลงสู่ระดับ 7.6% จากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 8.1% โดยสถิติดังกล่าวถือว่า อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 นับเป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2551 ขณะที่นายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่าของจีนออกมาเตือนว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศยังไม่มีเสถียรภาพ และอาจจะยังคงมีความยากลำบากทางเศรษฐกิจต่อไปสักระยะหนึ่ง