สื่อท้องถิ่นอินโดนีเซียรายงานโดยอ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่รายหนึ่งที่ระบุว่า รัฐบาลอินโดนีเซียทำการฟื้นฟูสวนยางพาราของรัฐ เพื่อให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น 44.5% สู่ระดับเฉลี่ยรายปีที่ 1,300 กิโลกรัม/เฮกตอร์ ภายในปี 2558
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายริสมานซิอาห์ ดานาสาบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายเพาะปลูกไม้ยืนต้น กระทรวงเกษตรอินโดนีเซียกล่าวว่า การฟื้นฟูจะครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 350,000 เฮกเตอร์ และราว 300,000 เฮกเตอร์ของพื้นที่ที่เป็นต้องฟื้นฟูทั้งหมด ส่วนพื้นที่ที่เหลือจะต้องอัดดินให้แน่นขึ้น
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณไว้ 5 ล้านล้านรูเปียห์ หรือ ประมาณ 530 ล้านดอลลลาร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนแผนดังกล่าว
หนังสือพิมพ์เดอะ จาการ์ตา โพสท์ รายงานว่า นายริสมานซิอาห์กล่าวว่า "ภายในสามปีข้างหน้า เราจะใส่ปุ๋ยในพื้นที่ 50,000 เฮกเตอร์และเพาะเมล็ดในพื้นที่ที่เหลือ"
ทั้งนี้ ศักยภาพการผลิตเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ผลิตยางอินโดนีเซีย เนื่องจากผลผลิตยางรายปีของอินโดนีเซียยังคงต่ำกว่าประเทศอื่นๆในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทยและมาเลเซีย อย่างมาก โดยไทยสามารถผลิตยางได้กว่า 1,500 กิโลกรัม/เฮกเตอร์
สวนยางราว 95% ของอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกอยู่ที่เกาะสุมาตราและเกาะกาลิมันตัน เมื่อปีที่แล้วพื้นที่สวนยางทั้งหมดอยู่ที่ 3.45 ล้านเฮกเตอร์ โดย 85% เป็นพื้นที่ของผู้ถือครองรายย่อย ขณะที่ 8% เป็นของบริษัทเอกชน และ 7% เป็นพื้นที่ของรัฐวิสาหกิจ
ยางพาราเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ส่งออกที่สำคัญของอินโดนีเซีย โดยปีที่แล้วมีการส่งออกถึง 2.6 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.243 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ