นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้จัดทำข้อมูลสินค้าเกษตรส่งออกของไทยที่มีมูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ยางธรรมชาติ ข้าว อ้อย ปลา กุ้งผลไม้ มันสำปะหลัง เนื้อไก่ ผัก และปาล์มน้ำมัน และ Top 5 การผลิตสินค้าเกษตรของแต่ละจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด และมีแผนดำเนินงานในเรื่องโซนนิ่ง เพื่อตอบสนองนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก เช่น การจัดทำข้อมูล Top 5 การผลิตสินค้าเกษตรของกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม เพื่อขับเคลื่อนในระดับพื้นที่
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ จะเน้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งรับซื้อสินค้าที่แน่นอน และราคาที่เป็นธรรม ส่วนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะผลักดันให้มีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้วยการบูรณาการระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้เกษตรกรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เน้นการลดต้นทุน รวมทั้งงานวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
"กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ หรือโซนนิ่ง ในสินค้าที่สำคัญตามยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมาย ซึ่งความคืบหน้าขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดรูปแบบการจัดทำโซนนิ่งในรูปของกลุ่มจังหวัด เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ โดยกรมพัฒนาที่ดินจะต้องเตรียมข้อมูลทางกายภาพในระดับตำบลเพื่อชี้แจงกับหน่วยงานในระดับพื้นที่" รมว.เกษตรฯ กล่าว
ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ ได้มีแผนงานโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำเขตเกษตรเศรษฐกิจ เช่น โครงการนิคมการเกษตร โครงการบริหารจัดการน้ำฯ สำหรับการดำเนินการเพื่อให้มีแหล่งผลิตอาหารบริโภคในชุมชน เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และใช้แนวคิดตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในลักษณะโครงการฟาร์มตัวอย่าง อ.บางแก้ว จ.พัทลุง และนำพื้นที่ว่างเปล่าของกรมธนารักษ์มาให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ในการสร้างงาน เพิ่มผลผลิตและรายได้ ตลอดจนแนวทางตาม MOU ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงสาธารณสุขที่จะเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตกับความต้องการผักปลอดสารพิษหรือผักอินทรีย์ของโรงพยาบาลทั่วประเทศ
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ครัวไทยสู่ครัวโลกนั้น ได้กำหนดกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนด้วยการจัดทำโซนนิ่ง โดยดำเนินการในสินค้าเป้าหมาย ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และผลไม้ เช่น ลำไย ทุเรียน เป็นต้น ซึ่งจะเน้นให้เกิดความเชื่อมโยงให้เป็นการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่ ในรูปของคลัสเตอร์โดยพิจารณาอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตามกรอบแนวทางการจัดทำเขตเกษตรเศรษฐกิจตามที่คณะอนุกรรมการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ ซึ่งให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา แบ่งเป็น 2 ระดับคือ ระดับที่หนึ่ง คือ การมีส่วนร่วม หรือแนวทางการปฏิบัติ ประกอบด้วยการโซนนิ่งเพื่อการส่งเสริม ซึ่งเชื่อมโยงถึงโครงสร้างพื้นฐานการผลิต เพื่อให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากการลดต้นทุน ลดความเสี่ยง และมีคุณภาพ การโซนนิ่งเพื่อเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดในพื้นที่ และการโซนนิ่งเพื่อการป้องกันและไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และ
ระดับที่สอง คือ ระดับภาพรวมของประเทศ ซึ่งจะพิจารณาในเชิงเศรษฐกิจทั้งในเรื่องของ ระยะเวลา โดยการบริหารเวลาควบคุมให้ผลผลิตสินค้าเกษตรออกมาสอดคล้องกับตลาดบริโภค และบริหารจัดการขนส่งให้รวดเร็ว รูปแบบของสินค้าและคุณภาพมาตรฐาน นับจากต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และ ต้นทุนและค่าขนส่ง