In Focusจับตามหากาพย์ QE3 ภารกิจหลังชนฝา บนบ่า "เบน เบอร์นันเก้"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 18, 2012 15:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ข่าวคราวที่น่าลุ้นระทึกใจในตลาดการเงินมากที่สุดในเวลานี้คงจะเป็นความเคลื่อนไหวของ เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ว่า จะส่งสัญญาณการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 หรือ QE3 หรือไม่ในระหว่างการแถลงมุมมองเศรษฐกิจต่อสภาคองเกรสซึ่งมีขึ้นเป็นเวลา 2 วัน โดยวันแรกมีการแถลงไปแล้วเมื่อช่วงค่ำวานนี้ตามเวลาไทย และจะแถลงต่ออีกวันในคืนนี้ตามเวลาไทยเช่นกัน

ในการแถลงวันแรก เบอร์นันเก้ก็ทำเอาตลาดการเงินระส่ำระสายกับมุมมองเศรษฐกิจที่เป็นลบว่า เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรกและความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเผชิญกับภาวะขาลง ก็มีอยู่มากเช่นกัน แต่วาทะที่สร้างความสั่นสะท้านให้กับตลาดการเงินมากที่สุดของเบอร์นันเก้ คือคำเตือนที่ว่า "หากสภาคองเกรสไม่สามารถแก้ไขปัญหาภาวะ 'หน้าผาทางการคลัง หรือ Fiscal Cliff' ให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ เศรษฐกิจสหรัฐซึ่งอยู่ในภาวะเปราะบางอยู่แล้วนั้น จะได้รับความเสียหายอย่างหนัก"

หน้าผาการคลัง คือภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศสูญเสียแรงขับเคลื่อนทางการคลังอย่างฉับพลันและรุนแรง เนื่องจากมาตรการการคลังชั่วคราวที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่เกิดวิกฤตินั้น สิ้นสุดลง ยิ่งมาตรการมีขนาดใหญ่มากเท่าไร เมื่อถึงเวลาสิ้นสุดของมาตรการก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจสูญเสียแรงส่งมากขึ้นเท่านั้น สถานการณ์เช่นนี้จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจถูกฉุดให้ลดต่ำลงหรืออาจรุนแรงถึงขั้นถดถอยได้ ภาพดังกล่าวจึงคล้ายกับเศรษฐกิจกำลังตกหน้าผา (ทางการคลัง)

แม้เบอร์นันเก้ได้แสดงความวิตกกังวลมากขนาดนี้ แต่ก็ไม่ได้ส่งสัญญาณออกมาชัดๆว่า จะเข็น QE3 ออกมาดับพิษเศรษฐกิจในยามนี้ การส่งสัญญาที่คลุมเครือของเบอร์นันเก้ทำให้ตลาดต่างๆเคลื่อนตัวผันผวนและไร้ทิศทาง เนื่องจากตลาดแต่ละแห่งรับเอาถ้อยแถลงของเบอร์นันเก้ในมุมมองที่แตกต่างกัน และที่น่าลุ้นระทึกก็คือการแถลงวันสุดท้ายในคืนนี้ว่า ท้ายที่สุดเบอร์นันเก้จะส่งสัญญาณการใช้ QE3 หรือไม่

QE หรือ Quantitative Easing แปลตามตัวอักษรว่า "มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ" เป็นมาตรการที่ธนาคารกลางนำมาใช้ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะวิกฤต สภาพคล่องในระบบหดตัว และสุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญกับการถดถอย หลักการทำ QE ที่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆก็คือ ธนาคารกลางจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบโดยตรง ผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน และตราสารหนี้ประเภทที่มีสินเชื่อบ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (MBS) เมื่อสภาพคล่องสูงขึ้น เม็ดเงินในระบบก็ไหลลื่น สถาบันการเงินก็ปล่อยเงินกู้เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อ ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทอดหนึ่ง เฟดนำมาตรการ QE1 มาใช้ในช่วงวิกฤตซับไพรม์ปี 2551 จากนั้นก็เข็น QE2 ออกมาในเดือนพ.ย.ปี 2553

แต่การใช้มาตรการ QE ของสหรัฐถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเพราะการเพิ่มเงินมหาศาลเข้าสู่ระบบด้วยการเข้าซื้อตราสารทางการเงินนั้น ส่งผลให้งบดุลของธนาคารกลางอยู่ในภาวะที่ไร้สมดุล ทั้งทางฝั่ง asset (ตราสารที่ซื้อเข้ามา) และฝั่ง liability (เงินที่จ่ายออกไป) ซึ่งนโยบายการเงินแบบปกติจะไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์แบบนี้

นายโรเบิร์ต รูบิน อดีตรมว.คลังสหรัฐกล่าวแสดงความเห็นในที่ประชุมเศรษฐกิจซึ่งจัดโดยขึ้นนิตยสารแอตแลนติกว่า มาตรการ QE แทบจะไม่ได้ช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และยังกล่าวด้วยว่าการออกมาตรการ QE เพิ่มเติมจะสร้างความตื่นตระหนกให้กับตลาด เนื่องจากนักลงทุนจะขาดความเชื่อมั่นในความพยายามที่จะควบคุมแรงกดดันด้านเงินเฟ้อของเฟด และไม่มั่นใจในคำมั่นสัญญาของรัฐบาลสหรัฐว่าจะสามารถควบคุมการขาดดุลได้

อัลแลน เมลท์เซอร์ นักวิเคราะห์จากสถาบันวิสาหกิจแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ผลกระทบหลักๆของมาตรการ QE คือจะทำให้มูลค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐลดลงอีกเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่แข่ง และจะทำให้ราคาทองคำ ราคาน้ำมัน และราคานำเข้าของสินค้าประเภทอื่นๆ ปรับตัวขึ้นด้วย นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อกำลังเคลื่อนไหวใกล้กับระดับเป้าหมายของเฟด และการขยายตัวของปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบพุ่งขึ้นถึง 10% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อในวันข้างหน้า

ขณะที่เจมส์ ดอร์น นักวิเคราะห์ด้านนโยบายการเงินจากสถาบันคาโต ในนครวอชิงตัน กล่าวว่า การพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบไม่ใช่ยาวิเศษที่ใช้เยียวยาเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐได้ โดยดอร์นกล่าวว่า หลังจากที่เฟดประกาศใช้มาตรการ QE มาแล้ว 2 ครั้ง อัตราว่างงานก็ยังคงยืนอยู่เหนือระดับ 9% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ทั่วไป ยืนอยู่ที่ 3.6% โดยระบุว่า เมื่อพิจารณาจากปัจจัยทางเทคนิคแล้วพบว่า สหรัฐกำลังเผชิญกับภาวะ stagflation หรือภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงแต่มีเงินเฟ้อสูงขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์หลายคน ซึ่งรวมถึงดอร์น คาดว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวในระดับต่ำเป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐาน นอกจากนี้ ยังเกิดจากความไม่แน่นอนด้านนโยบาย ไม่ใช่เกิดจากการไม่ใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จากหลายสำนักคาดว่า ท้ายที่สุดแล้วเฟดจะตัดสินใจใช้มาตรการ QE3 อย่างแน่นอน โดยนักวิเคราะห์ของแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ คาดการณ์ว่าเฟดจะประกาศใช้ QE3 ในเดือนก.ย.นี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดการเงิน และหนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นจากภาวะอ่อนแอ

"เราคาดว่า เฟดจะใช้มาตรการ QE3 มูลค่า 5 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนก.ย. ซึ่งจะช่วยหนุนตลาดสินเชื่อจำนองให้แข็งแกร่งมากขึ้น และมาตรการนี้จะมีประสิทธิภาพมากกว่า Operation Twist" ปรียา มิสรา หัวหน้าแผนกยุทธศาสตร์การลงทุนในสหรัฐของ แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ กล่าว

ขณะที่นายเดวิด มานน์ นักวิจัยของธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด คาดการณ์ว่า เฟดจะใช้มาตรการ QE3 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 พร้อมกับคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสแรก และไตรมาส 2 จะขยายตัวไม่ถึง 1% ขณะที่อัตราว่างงานจะอยู่ที่ระดับ 9.3% หรือมากกว่า ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เฟดตัดสินใจใช้มาตรการ QE3 ในช่วงเวลาดังกล่าว

แต่คำพยากรณ์ของนักวิเคราะห์สำนักไหนก็ไม่เท่ากับสิ่งที่อยู่ในใจของเบอร์นันเก้ และเราคงต้องลุ้นว่า การแถลงวันสุดท้ายในคืนนี้ หัวเรือใหญ่ของเฟดจะส่งสัญญาณการใช้ QE3 หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ