ศูนย์กสิกรฯคาดค้าปลีก H2/55 โต 4.8-6% นโยบายลดค่าครองชีพ-ตรึงราคาหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 18, 2012 16:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แนวโน้มของธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งปีหลัง ปี 2555 ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง หากแรงกดดันด้านค่าครองชีพเริ่มอยู่ในระดับที่ทรงตัว ซึ่งถ้าทิศทางราคาน้ำมันไม่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และหากไม่มีปัจจัยใดที่มากระทบต่อภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกอย่างรุนแรง

ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในปี 2555น่าจะขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.8-6.0 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 2.3 จากผลกระทบทางอุทกภัย โดยปัจจัยหนุนที่สำคัญในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ นโยบายลดภาระค่าครองชีพของทางภาครัฐ อาทิ โชห่วยช่วยชาติ (ร้านค้าถูกใจ) ธงฟ้าลดค่าครองชีพ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่ง ส่งผลให้คาดว่า ผู้บริโภคน่าจะยังคงมีกำลังซื้อและมีอารมณ์ที่จะออกมาจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง

การชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค จากการที่ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ได้ประกาศชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้าออกไปก่อน ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดภาระค่าครองชีพของผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งปีหลัง ที่คาดว่าจะทำให้ผู้บริโภคยังคงออกมาใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งเทศกาลสำคัญๆในช่วงครึ่งปีหลังที่คาดว่าจะกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคได้อย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค 2012 หรือเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เป็นต้น ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการมีการทำกลยุทธ์ทางการตลาดกันอย่างเข้มข้น เพื่อดึงดูดกำลังซื้อของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

สำหรับนโยบายเชิงรุกในการขยายสาขาของผู้ประกอบการค้าปลีกในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่ายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ทั้งในลักษณะของการหาพื้นที่ทำเลเพื่อก่อสร้างใหม่ รวมถึงเช่าพื้นที่ หรือการซื้อขายกิจการ เพื่อนำมาปรับปรุงเป็นกิจการของตนเองแทนการสร้างใหม่ที่ต้องใช้เวลาก่อสร้างนานพอสมควร

ทั้งนี้ ธุรกิจค้าปลีกของไทยก็จำเป็นต้องเร่งปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะแรงกดดันจากการแข่งขันที่จะสูงขึ้น ทั้งจากผู้ประกอบการภายในประเทศ รวมถึงคู่แข่งที่เป็นธุรกิจต่างชาติที่มีเงินทุนและเทคโนโลยีที่เพรียบพร้อม ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวทั้งเชิงรุกและเชิงรับได้ก่อน ก็ย่อมมีโอกาสที่จะขยายธุรกิจให้เติบโตมากขึ้นภายใต้การใช้ประโยชน์จากกรอบ AEC

ถึงกระนั้นผู้ประกอบการค้าปลีกควรระวังปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และจะส่งผลต่อภาพรวมในการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งปีหลัง โดยปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ประกอบการจะต้องระมัดระวัง และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ได้แก่ ปัญหาเรื่องค่าครองชีพ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกจะต้องระมัดระวัง และวางแผนรับมือ เพราะหากช่วงครึ่งปีหลัง ผู้บริโภคต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะกดดันในเรื่องต่างๆ อาทิ ราคาน้ำมัน ราคาสินค้า ก็อาจจะกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และอาจจะส่งผลต่อภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งปีหลังได้

ปัญหาอุทกภัย นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ยังคงสร้างความกังวลให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการค้าปลีก ซึ่งธุรกิจค้าปลีกก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จากเส้นทางการคมนาคมขนส่งและศูนย์กระจายสินค้าได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ทำให้ระบบการกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคที่ต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว จนกระทั่งเกิดภาวะการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเกือบทั้งประเทศ

ปัญหาวิกฤตหนี้ยูโรโซนที่อาจจะส่งกระทบทางอ้อมต่อภาพรวมของธุรกิจค้าปลีก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจส่งออก และส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ ทำให้ผู้บริโภคอาจจะชะลอการใช้จ่ายลง หรือมีการระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น แต่ในขณะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาจจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะประเทศที่มีปัญหาดังกล่าวไม่ได้เป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักในกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรป ในขณะที่ประเทศอื่นๆในยุโรxยังคงมีการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น และมีการใช้จ่ายเพื่อการทำกิจกรรมต่างๆค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและของที่ระลึกตามแหล่งค้าปลีกที่สำคัญของไทย

สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมทั้งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคและจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวโดยเฉพาะในช่วง High season ซึ่งหากมีการชุมนุมประท้วงปิดถนนจะมีผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกค่อนข้างรุนแรง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ