ไทย-เยอรมนีร่วมเป็นหุ้นส่วนส่งเสริมการฟื้นตัวศก.ยุโรป ผ่านการค้าการลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 19, 2012 10:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าพบนางอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี โดยระบุว่าไทยมีความเชื่อมั่นต่อเยอมนีและสหภาพยุโรป และด้วยความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยและเยอมนี รวมทั้งภูมิภาคนี้จะนำมาซึ่งการเติบโตและการจ้างงานอย่างยั่งยืน โดยด้านการค้า-การลงทุน ทั้งสองฝ่ายพอใจปริมาณการค้าระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เยอรมนีถือเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยในยุโรป และไทยเป็นคู่ค้าสำคัญในภูมิภาคอาเซียนของเยอรมนี ทั้งสองฝ่ายจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุน โดยใช้กลไกความร่วมมือทวิภาคีที่มีอยู่ เช่น คณะกรรมาธิการร่วมเศรษฐกิจไทย-เยอรมนี ให้ทำงานอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนีจะเยือนไทยในเดือนก.ย.นี้ เพื่อเจรจาและดำเนินการเพื่อร่วมมือกันผลักดันการค้าและการลงทุนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดี ไทยต้องการร่วมมือกับเยอรมนีเพิ่มเติมด้านการรับรองและพัฒนามาตรฐานสินค้าอาหารไทย เพื่อลดการตีกลับการส่งออกอาหารไทยไปยุโรป โดยไทยเสนอให้เยอรมนีร่วมกับไทยตั้งจุดตรวจคุณภาพสินค้าในประเทศไทยก่อนที่จะมีการส่งออก เพื่อลดความสูญเสียในเรื่องค่าขนส่ง

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีของไทยได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนของเยอรมนีเข้ามาลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องจักรกล ซึ่งรัฐบาลไทยมีมาตรการจูงใจทางภาษีให้แก่นักลงทุนต่างชาติ

นอกจากนี้ ไทยและเยอรมนีเห็นพ้องเร่งผลักดันเดินหน้าการเจรจาการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และสำหรับประเด็นเรื่องสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยกำลังจะถูกตัดสิทธินั้น นายกรัฐมนตรีได้แสดงความขอบคุณที่ทางสหภาพยุโรปได้ตัดสินใจที่จะขยายการให้สิทธิพิเศษทางศุลกากรให้แก่ไทยจนถึงปลายปี 2013

ส่วนในด้านความร่วมมือเศรษฐกิจสีเขียว(Green Economy)นั้น ไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และสนใจที่จะร่วมมือกับเยอรมนีอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความร่วมมือที่เกี่ยวกับการจัดทำนโยบายอุตสาหกรรม และประชาชนไทยพร้อมเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์กับเยอรมนีด้านเศรษฐกิจสีเขียว นอกจากนี้ไทยยินดีที่เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จัดการหารือยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเวทีที่จะยกระดับความร่วมมือระหว่างสองประเทศจากระดับผู้เชี่ยวชาญถึงระดับการเมือง โดยคาดว่าจะจัดการหารือครั้งแรกได้ภายในสิ้นปีนี้

ปัจจุบัน รัฐบาลไทยส่งเสริมการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เพื่อเพิ่มสัดส่วนในพลังงาน 1 ใน 4 ภายใน 10 ปีนี้ ไทยจึงสนใจการก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไทยประสงค์ที่จะเป็นผู้ปูทางในภูมิภาคในเรื่องของอุตสาหกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ไบโอพลาสติก ไทยและเยอรมนีจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในสาขาถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต และกลไกต่างๆ

ส่วนด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความขอบคุณในความช่วยเหลือจากเยอรมนีในช่วงที่ไทยประสบกับวิกฤติอุทกภัย รวมถึงความช่วยเหลือในการฟื้นฟูโบราณสถานที่ได้รับความเสียหาย และกล่าวถึงความสำคัญที่รัฐบาลไทยในการป้องกันอุทกภัยในอนาคตโดยเฉพาะบริเวณเขตเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลไทยมีแผนการลงทุนในเรื่องนี้มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท และทราบว่าภาคเอกชนเยอรมนีที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อการเตือนภัยล่วงหน้าสนใจเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งรัฐบาลไทยยินดีต้อนรับ

ด้านการศึกษานั้น ไทยและเยอรมนีจะร่วมกันขจัดปัญหาอุปสรรคด้านการแลกเปลี่ยนนักศึกษา เช่น การขอวีซ่า โดยไทยพร้อมที่สานต่อความร่วมมือเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษา เนื่องจากประเทศเยอรมนีมีระบบ Dual System ที่มีประสิทธิภาพและ 2 ประเทศจะเร่งสรุปสำหรับการจัดทำความตกลงได้โดยเร็ว

นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองประเทศยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นสำคัญคือ สถานการณ์วิกฤติหนี้ในยุโรปที่เยอรมนีมีบทบาทนำในการแก้ปัญหา โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงผลกระทบต่อประเทศไทยว่ายังอยู่ในวงจำกัด และอาจจะไม่ส่งผลโดยตรงต่อประเทศไทย แต่อาจจะเป็นผลทางอ้อมจากผลกระทบการส่งออกไปตลาดสำคัญ เช่น จีน และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ไทยเชื่อมั่นว่ายุโรปจะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาและผ่านพ้นความท้าทายนี้ไปได้ โดยไทยพร้อมที่จะขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับยุโรป เพื่อสนับสนุนกระบวนการการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนจะช่วยส่งเสริมการเติบโตและการจ้างงานโดยรวม ซึ่งประสบการณ์วิกฤติการเงินของเอชียในปี 1997 แสดงให้เห็นว่าต้องหลีกเลี่ยงนโยบายการปกป้องตลาดในรูปแบบต่างๆ

สำหรับประเด็นในภูมิภาค ผู้นำทั้งสองได้มีการแลกเปลี่ยน เช่น พัฒนาการของอาเซียนที่เยอรมนีให้ความสนใจ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงศักยภาพของประชาคมอาเซียน และพร้อมจะสนับสนุนเยอรมนีและสหภาพยุโรปให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาภูมิภาคและบทบาทร่วมที่สร้างสรรค์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ