นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจทัศนะของกลุ่มเกษตรกรต่อนโยบายการรับจำนำข้าวและมันสำปะหลังของรัฐบาลว่า ในนโยบายรับจำนำข้าว ผู้ตอบส่วนใหญ่ 69.8% ระบุพอใจปานกลาง เพราะทำให้มีรายได้มากขึ้น มีเงินออมมากขึ้น เป็นหนี้ลดลง มีกำลังซื้อสินค้า และวัสดุ อุปกรณ์ทางการเกษตรได้มากขึ้น จึงต้องการให้รัฐบาลดำเนินนโบายนี้ต่อไป โดยระดับราคาจำนำที่ต้องการคือเฉลี่ยตันละ 18,361.37 บาท
เมื่อถามว่า ระเบียบขั้นตอนการรับจำนำข้าวเปิดโอกาสให้มีการทุจริตได้มากน้อยเพียงใด ผู้ตอบส่วนใหญ่ 45.3% ระบุปานกลาง อีก 16.4% ระบุมากถึงมากที่สุด และ 27.7% ระบุน้อยถึงน้อยที่สุด สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลคือ ควบคุมราคาสินค้าที่เป็นวัตถุดิบทางการเกษตร และต้นทุนการเกษตร เพราะปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ทั้งจากราคาปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ราคาน้ำมัน ค่าแรง และค่าเครื่องจักรอุปกรณ์ทางการเกษตร เป็นปัญหาสำคัญอันดับแรกของเกษตรกร, ดูแลและแก้ปัญหาภัยธรรมชาติ, เ พิ่มคุณภาพของเม็ดพันธุ์และผลผลิต, จัดสรรน้ำให้เพียงพอ, ดูแลราคาข้าวให้เหมาะสมกับต้นทุน, จัดอบรมให้ความรู้เกษตรกร และดูแลราคาอย่าต่อเนื่องไม่ให้ตกต่ำ
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อถึงนโยบายการรับจำนำมันสำปะหลังว่า ผู้ตอบส่วนใหญ่ถึง 81.6% ระบุพอใจระดับปานกลางถึงมาก เพราะมีรายได้มากขึ้น มีเงินออมมากขึ้น เป็นหนี้ลดลง มีกำลังซื้อสินค้า และวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตรได้มากขึ้น ดังนั้นเห็นด้วยที่รัฐบาลจะดำเนินนโยบายนี้ต่อไป โดยราคารับจำนำที่ต้องการได้คือ เฉลี่ยที่กิโลกรัม (กก.) ละ 5.18 บาท จากราคาจำนำปัจจุบันที่ประมาณกก.ละ 3 บาท
"นโยบายรับจำนำสินค้าเกษตรทั้ง 2 ชนิด มองในแง่วิชาการสามารถยกระดับราคาได้จริง อย่างข้าว ก่อนรับจำนำอยู่ที่เฉลี่ยตันละ 9,000 บาท แต่ตอนนี้เฉลี่ยตัวละ 10,500 บาท ส่วนมันสำปะหลังราคาล่าสุดเดือนพ.ค.-มิ.ย. กก.ละเกือบ 3 บาท จากก่อนจำนำที่กก.ละบาทกว่า ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น เป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น จึงให้คะแนนจำนำข้าวที่ 8 และจำนำมันที่ 9 คะแนนจากเต็ม 10 คะแนน ส่วนสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งปรับปรุงเป็นการด่วนคือ การลดต้นทุนการผลิตที่เป็นปัญหาใหญ่ให้กับเกษตรกร รวมถึงเร่งหาตลาดส่งออก" นายธนวรรธน์ กล่าว