นายวิชาญ ปางจุติ ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จ.อุดรธานี กล่าวว่า ขณะนี้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติสนใจและลงทุนตั้งโรงงานประกอบกิจการแปรรูปยางพาราก้อนถ้วยขนาดใหญ่ในพื้นที่ จ.อุดรธานี เพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบยางพาราในระดับหนึ่งแล้ว ยังเป็นจังหวัดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการท่องเที่ยวของภาคตะวันออกเฉียงเหือ ด้วยความได้เปรียบเรื่องทำเลท่ตั้งที่ไม่ได้ห่างจากกรุงเทพฯมากนัก
อีกทั้งห่างจากฝั่งแม่น้ำโขงตามจุดเชื่อมต่อกับจังหวัดหนองคายเพียง 50 กิโลเมตร ซึ่งมีชายแดนติดกับกรุงเวียงจันทน์ของลาว ยิ่งทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านการค้าการลงทุนที่สำคัญอีกจังหวัดหนึ่งทางภาคอีสาน
โรงงานที่เข้ามาตั้งกิจการแล้ว อาทิ บ.ซูมิรับเบอร์ ไทยอีสเทิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด บ.กว่างเขินรับเบอร์ (แม่โขง) บ.ไทยฮั้ว อ.หนองหาน กำลังก่อสร้าง แต่ได้มีการเปิดรับซื้อไปบ้างแล้วในเดือนนี้ บมจ.ศรีตรังอะโกรอินดัสตรี(STA)อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และยังมีองค์การสวนยาง องค์กรของรัฐซึ่งกำลังก่อสร้าง และคาดว่าจะเปิดรับซื้อในเดือน ส.ค.นี้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีการสร้างโรงงานผลิตยางแผ่นรมควันอีก 3 แห่ง ได้แก่ บมจ.ไทยฮั้ว ตั้งอยู่ อ.หนองหาน บ.มหากิจรับเบอร์ ตั้งอยู่ อ.กุดจับ และบ.ไทยารี รับเบอร์ ตั้งอยู่ อ.หนองวัวซอ
สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ที่สกย.ดูแล 32,000 กว่าราย มีพื้นที่ปลูกยางพารา รวมทั้งสิ้นประมาณ 5 แสนกว่าไร่ สามารถเปิดกรีดยางได้แล้วประมาณ 1 แสนกว่าไร่ และปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อปี 2 หมื่นกว่าตันต่อปี โดยอยู่ในรูปของยางก้อนถ้วยประมาณ 80% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด ส่วนอีก 20% จะอยู่ในรูปของยางแผ่นดิบ
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งเป็นสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดอุดรธานี ได้ดำเนินการรับชำระเงินสงเคราะห์(Cess)จากผู้ประกอบการ โดยมีผู้แทนจากบริษัท กว่างเขินรับเบอร์ (แม่โขง) จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศจีน เป็นบริษัทแรกเข้ามาใช้บริการชำระเงิน Cess มูลค่า 3,538,080 บาท (5 บาท/กก.) จากการนำส่งออกยางคอมปาวด์ ปริมาณ 707.616 ตัน โดยจะส่งออกที่ท่าเรือกรุงเทพ
ขณะนี้ สกย.จ.อุดรธานี มีผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการชำระเงิน Cess เพิ่มขึ้น ประมาณอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง จนถึง ณ วันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา รวมเป็นเงิน Cess ทั้งสิ้น 8,860,710 บาท