โรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียมฯ ขอผ่อนผันเพิ่มสำรองน้ำมันเป็น 6% เป็นรายแรก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 19, 2012 16:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า โรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง(SPRC) เป็นโรงกลั่นรายแรกที่ยื่นขอผ่อนผันการเพิ่มสำรองน้ำมันทางกฏหมายของเอกชนจาก 5% เป็น 6% โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีคลังน้ำมันเพียงพอที่จะรองรับ โดยการสำรองเอกชนสามารถไปเช่าคลังของผู้อื่นที่มีปริมาณเหลือเพื่อเพิ่มสำรองได้ เช่น คลังน้ำมันที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี, คลังน้ำมันที่ จังหวัดเพชรบุรี, คลังน้ำมันไออาร์พีซี จ.ระยอง เป็นต้น โดยต้นทุนสำรองที่เพิ่มขึ้น สุดท้ายแล้วจะนำไปรวมกับราคาน้ำมันของผู้บริโภคทั่วไป

โดยขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างจัดทำประกาศการเพิ่มสำรองของภาคเอกชนจาก 5% เป็น 6% หรือเพิ่มจาก 36 วัน เป็น 43 วัน ทำให้น้ำมันสำรองเพิ่มเป็นวันละ 28 ล้านบาร์เรล จากเดิมวันละ 23.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นไปตามแผนการจัดทำสำรองน้ำมันทางยุทธศาตร์ของประเทศที่มีเป้าหมายจะสำรองเพื่อความมั่นคง 90 วัน

อย่างไรก็ตาม ตามแผนสำรองทางยุทธศาสตร์ 90 วัน จะเป็นการสำรองโดยเอกชน 43 วันที่เหลือเป็นของภาครัฐ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาว่าภาครัฐจะสำรองรูปแบบใด โดยหลักการเมื่อสำรองแล้วจะไม่มีการนำน้ำมันมาจำหน่าย แต่เป็นการเก็บเพื่อความมั่นคงโดยเฉพาะหรืออาจจะให้เอกชนขอยืมเป็นครั้งคราว เมื่อกรณีเกิดปัญหาอุบัติเหตุไม่คาดคิด รูปแบบการสำรองโดยรัฐนั้น อาจจะให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนสร้างคลังแล้วภาครัฐเป็นผู้เช่าคลัง หรือรัฐเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด โดยมูลค่าก่อสร้างคลังประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท ค่าน้ำมันสำรองโดยรัฐประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยคำนวณจากราคาน้ำมันที่ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าบริหารจัดการปีละ 10,000 ล้านบาท โดยรูปแบบกำลังศึกษาจากต่างประเทศจะดำเนินการอย่างไร

นายวีระพล กล่าวว่า การสำรองน้ำมันของไทยจะมีวัตถุประสงค์เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานในยามฉุกเฉิน เช่น ภัยพิบัติ สงครามในตะวันออกกลาง รวมทั้ง รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สำรองที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 90 วันก็เป็นไปตามที่องค์การพลังงานระหว่างประเทศ(IEA) แนะนำ โดยการสำรองน้ำมันของสมาชิก IEA ทั้ง 28 ประเทศ อยู่ที่ 178 วัน เป็นการสำรองของเอกชน 106 วัน และภาครัฐ 61 วัน ส่วนประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสำรองเฉลี่ย 145 วัน โดยเป็นของเอกชน 83 วัน และภาครัฐ 61 วัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในช่วงญี่ปุ่นประสบปัญหาสึนามิ น้ำมันสำรองสามารถแก้ปัญหาขาดแคลนได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ กรมฯ ยังอยู่ระหว่างศึกษาการต่อขยายระบบท่อสงน้ำมันไปภาคเหนือ-อีสานเงินลงทุนประมาณ 15,237ล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดค่าขนส่งจากปัจจุบันใช้รถขนส่งน้ำมันประมาณนับหมื่นคัน คาดจะลดต้นทุนน้ำมันได้ 20-30 สตาค์ต่อลิตร เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางรถยนต์ โดยภาพรวมใน 25 ปีข้างหน้าจะประหยัดพลังงานจากการขนส่งทางรถยนต์ได้ 42,000 ล้านบาท ประหยัดค่าซ่อมแซมอะไหล่รถรถยนต์ 19,500 ล้านบาท และลดก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นมูลค่า 530 ล้านบาท โดยรูปแบบการลงทุน อาจจะเป็นทั้งรัฐร่วมทุนเอกชน หรือเอกชนลงทุน หรือ ปตท.ลงทุน ซึ่งผู้บริหารน่าจะเป็น บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย(แทปไลน์) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการท่อน้ำมันภาคกลางเป็นผู้บริหาร

สำหรับแนวท่อขนส่งน้ำมันไปภาคอีสานจะสร้างท่อต่อจากท่อน้ำมันที่คลังน้ำมันสระบุรีไปโคราช และขอนแก่น โดยขนาดท่อไปโคราชกว้าง 14 นิ้ว ระยะทาง 160 กม. ส่วนท่อจากโคราชไปขอนแก่นขนาดท่อกว้าง 11 นิ้ว ระยะทาง 185 กิโลเมตร ส่วนภาคเหนือสร้างท่อจากคลังสระบุรีไปพิษณุโลกและลำปาง โดยท่อพิษณุโลกขนาดกว้าง 14 นิ้ว ระยะทาง 338 กิโลเมตร โดยทั้ง 4 จังหวัดจะมีการสร้างคลังน้ำมัน ในขณะที่จังหวัดอื่นก็จะใช้การขนส่งทางรถยนต์มารับน้ำมันจากคลังทั้ง 4 แห่ง ทั้งนี้ ในส่วนของคลังจะมีการสร้างขนาดเท่าใดนั้น อาจจะนำไปพิจารณาพร้อมกับแผนการจัดทำยุทธศาสตร์สำรองน้ำมันของประเทศ

นายวีระพล กล่าวว่า ประโยชน์การสร้างท่อน้ำมันก็จะทำให้ภาคเหนือ-อีสานใช้น้ำมันราคาเดียวกับภาคกลาง เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจ และช่วยสนับสนุนเขตเศรษฐกิจอาเซียนด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ