(เพิ่มเติม) "บัณฑูร"แนะรัฐวางโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์-การศึกษา-กฏหมายตั้งรับ AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 19, 2012 17:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)ระบุว่า ภาครัฐควรเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานให้ผู้ประกอบการ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านโลจิสติกส์ การศึกษา และกฎหมาย เพื่อรับมือการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ในปี 58

ทั้งนี้ AEC ไม่ใช่โจทย์ครั้งแรกที่เกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจ เพราะที่ผ่านมามีโจทย์ที่ท้าทายมาโดยตลอด เช่น เมื่อ 20 ปีที่แล้วที่เกิดกระแสโลกาภิวัตน์ หรือ 10 ปีที่แล้วที่จีนเปิดประเทศ โดยการเปิด AEC ในอีก 3 ปีข้างหน้าถือเป็นการเปิดทางให้คู่แข่งเข้ามามากขึ้นด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาเตรียมความพร้อมรับมือกับการแข่งขัน หากเตรียมตัวได้ทันก็ถือว่าได้ประโยชน์ แต่หากไม่เตรียมตัวก็จะเสียโอกาส

"โจทย์ธุรกิจมีตลอดเวลาในภาคเศรษฐกิจที่ต้องมีการทำมาค้าขาย จึงต้องวางทิศทางให้เหมาะสม...ไม่ใช่โจทย์ครั้งแรก แต่โจทย์ถือเป็นเรื่องคู่เศรษฐกิจคู่ชีวิตมาตลอด" นายบัณฑูร กล่าว

อย่างไรก็ตาม มองว่าประเทศไทยมีความพร้อมต่อการเกิด AEC ในบางประเด็นที่มีความได้เปรียบ เหมือนกับทุกประเทศในอาเซียนที่ขณะนี้มีการตื่นตัวกับ AEC เช่นกัน โดยเชื่อว่าคงไม่มีใครพร้อมในทุกด้าน แต่ผู้ที่มีความพร้อมทั้งเงินทุนหรือแบรนด์น่าจะได้ประโยชน์มากขึ้น ส่วนผู้ที่กำลังตั้งตัวและเงินทุนน้อย อาจจะต้องใช้ความพยายามมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SME ที่จะต้องถือว่า AEC เป็นโจทย์ที่ท้าทายที่สุด เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะยืนอยู่ในจุดใดภายใต้การแข่งขันที่เปิดเสรีมากขึ้น

นายบัณฑูร กล่าวว่า ภาครัฐจะต้องดูแลเอื้ออำนวยให้ภาคธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขัน โดยการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างโอกาสให้มากที่สุด เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการเปิด AEC โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการศึกษาให้คนไทยมีความรู้มากขึ้น การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่จะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการได้มากที่สุด และการพัฒนาระบบกฎหมาย กฎระเบียบ ให้ชัดเจน สอดคล้องกับความเป็นจริงเป็นธรรม และกระจายความมั่งคั่ง อีกทั้งต้องเป็นความหวังของคนไทย และมีระบบวัดผลให้เห็นเป็นรูปธรรมได้

"สิ่งสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ การดูแลพื้นฐานของประเทศต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่ามีความคืบหน้าอะไร ไม่ใช่พูดอย่างเดียวว่าจะลงทุนเท่าไร แต่ต้องรายงานความคืบหน้า เปียบเทียบความก้าวหน้า ไม่ใช่พูดเท่านั้น ต้องสร้างมาตรวัดให้เห็นเพื่อให้คนไทย ผู้ประกอบการยึดเกาะได้" นายบัณฑูร กล่าว

ที่ผ่านมาประเทศไทยเสียเวลาไปมาก เพราะมีปัจจัยทางการเมืองมากกว่าประเทศสมาชิกอื่นๆ โดยสูญเสียเวลาในการแย่งอำนาจกัน ซึ่งไม่สามารถตัดสินได้ว่าฝ่ายใดมีอำนาจทำให้เสียเวลาในการบริหารจัดการประเทศ ดังนั้น หากสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลสามารถทำงานร่วมกันได้จะช่วยให้ประเทศมีความก้าวหน้ามากขึ้น

สำหรับภาคธนาคารพาณิชย์ของไทย ถือว่าอยู่ในกลุ่มที่มีเงินทุน มีความรู้ และบุคลากรพร้อมในระดับหนึ่ง จึงเป็นกลุ่มแรกที่คิดตอบโจทย์ว่าจะแข่งขันในด้านใดภายใต้ตลาดที่เปิดเสรีมากขึ้น แต่เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ไทยคงไม่ลงทุนเปิดสาขาครอบคลุมทั้งเอเซีย เพราะข้อจำกัดด้านเงินทุนและบุคลากร จึงต้องคิดหารูปแบบของการเข้ามามีบทบาทใน AEC ให้มากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ