กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า อังกฤษอาจต้องใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป ซึ่งรวมถึงการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแรง
“มีมาตรการกระตุ้นทางการเงินที่จริงจังเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจที่อ่อนแอและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการบรรรลุเป้าเงินเฟ้อ" ไอเอ็มเอฟระบุในรายงานฉบับหนึ่งหลังการประชุมหารือทางเศรษฐกิจประจำปีกับอังกฤษ
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของอังกฤษ ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ ลดลงแตะ 2.4% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งต่ำสุดนับแต่เดือนพ.ย.2552 และปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน
รายงานระบุว่า เมื่อปลายปี 2554 ธนาคารกลางอังกฤษได้ดำเนินการซื้อพันธบัตร หรือผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อีกครั้ง โดยประกาศซื้อเพิ่มเติมในเดือนก.พ.และก.ค.2555
ไอเอ็มเอฟเปิดเผยว่า แม้มีการผ่อนคลายทางการเงิน แต่ภาวะสินเชื่อยังตึงตัวจากหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงกระบวนการปฏิรูปทางการเงินที่ไม่สมบูรณ์และต้นทุนการระดมทุนในภาคธนาคารที่สูงขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะตึงเครียดที่รุนแรงในยูโรโซน
ในช่วงต้นเดือนก.ค.นี้ ธนาคารกลางอังกฤษประกาศว่าจะอัดฉัดเม็ดเงินอีก 5 หมื่นล้านปอนด์ หรือราว 7.8 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 4 เดือนข้างหน้าผ่านทางมาตรการ QE ซึ่งจะขยายขนาดวงเงิน QE สู่ระดับ 3.75 แสนล้านปอนด์ แต่ธนาคารได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงไว้ในระดับเดิมที่ 0.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงกว่า 3 ปี
ไอเอ็มเอฟระบุในรายงานว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอังกฤษอยู่ในภาวะเปราะบาง โดยคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในอนาคต แต่อัตราการขยายตัวจะอ่อนแรง
ในต้นสัปดาห์นี้ ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของอังกฤษในปีนี้สู่ 0.2% ซึ่งลดลงจาก 0.8% ที่ประเมินไว้เมื่อเดือนเม.ย. ขณะที่ปรับลดอัตราการขยายตัวในปี 2556 ลงที่ 1.7% จากเดิมที่ 2%