นีลสันฯ เผยปัญหาศก.โลกกดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคไทย Q2/55วูบ 3%จาก Q1/55

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 20, 2012 12:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุเรช รามาลินกัม กรรมการผู้จัดการบริษัทนีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไทยไตรมาส 2/55 ตกลงเหลืออยู่ที่ 103.5 จุดจาก 106.9 จุดในไตรมาสก่อนส่งผลให้ไทยตกอันดับเป็นประเทศที่มีความเชื่อมั่นอันดับ 6 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ซึ่งลดลง 1 อันดับจากไตรมาสก่อน

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไทยตกลงเกือบ 4 จุดเหลือ 103.5 จุด หลังจากขยับขึ้นช่วงไตรมาส 1/55 หลังวิกฤตการณ์น้ำท่วม แต่คนไทยไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจติดลบในทุกด้าน แม้ว่า 65% ยังคงเชื่อว่าไทยอยู่ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจถดถอย และดัชนีความเชื่อมั่นตกลงจากไตรมาสก่อนถึง 3 จุด ขณะที่คนไทย 28% ยังมีความเชื่อว่าประเทศจะผ่านพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายในปีนี้ และเกือบเจ็ดในสิบคน (66%) มีมุมมองแง่บวกเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการงานของตนและ 65% เชื่อว่าสถานการณ์ทางการเงินส่วนบุคคลของตนอยู่ในสภาพดีถึงดีมากในอีกหนึ่งปีข้างหน้า

"ปัญหาความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจโลก ปัญหาเงินยูโรในยุโรป รวมไปถึง อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลงของจีนและอินเดีย ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังสภาวะด้านการเงินและความรู้สึกของผู้บริโภคในประเทศไทย แต่มุมมองในแง่บวกของคนในประเทศถือเป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศ ที่ไม่ว่าจะผ่านวิกฤตมากี่ครั้ง ผู้บริโภคจำนวนมากก็ยังคงความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปได้" นายสุเรช กล่าว

จากการสำรวจยังพบว่าปัญหาหนักใจสำหรับผู้บริโภคไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากในไตรมาสก่อน ซึ่งแม้ว่าผู้บริโภคไทย 34% ยังจัดอันดับความกังวลด้านเศรษฐกิจมาเป็นอันดับแรก แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนผู้บริโภคมีความกังวลกับปัญหาเศรษฐกิจลดลงถึง 24% ในทางกลับกัน จำนวนของผู้บริโภคที่มีความกังวลต่ออัตราค่าน้ำค่าไฟเพิ่มขึ้นเป็น 24% สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนถึงหนึ่งเท่าเต็มรองลงมาคือปัญหาความมั่นคงด้านอาชีพอยู่ที่ 18% และภาระหนี้สินอยู่ที่ 16%

“การปรับเพิ่มค่า FT30 สตางค์ ส่งผลให้ความกังวลเกี่ยวกับค่าบริการสาธารรณูปโภคเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่าปัญหานี้เป็นปัญหาชั่วคราวที่จะค่อยๆจางหายไปหลังสิ้นสุดการปรับเพิ่มภาษีเชื้อเพลิงในเดือนสิงหาคม" นายสุเรช กล่าว

การสำรวจดัชนีความมั่นใจของนีลเส็น ยังบ่งชี้ให้เห็นถึงสัญญาณของภาวะผู้บริโภครัดเข็มขัด โดยผู้บริโภคไทยหกในสิบคน (61%) เชื่อว่าขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมแก่การจับจ่ายใช้สอยสินค้าฟุ่มเฟือย ขณะที่ผู้บริโภคถึง 31% เลือกที่จะลดค่าเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุด ซึ่งคิดเป็นอัตราที่เพิ่มมากขึ้นจากไตรมาสก่อนถึง 17% อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคไทยถึง 9% อ้างว่าตนไม่มีเงินออมเหลือเก็บสิ้นเดือน ซึ่งนับเป็นจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นถึง 50% จากไตรมาสแรกของปี

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นอีกว่า อาหารและเครื่องดื่มถือเป็นค่าใช้จ่ายหลักต่อเดือนสำหรับผู้บริโภคไทย โดยที่ค่าใช้จ่ายสำหรับการรับประทานอาหารนอกบ้านคิดเป็น 11.5% ของรายจ่ายทั้งหมด และค่าอาหารภายในบ้านคิดเป็น 15.5% ซึ่งค่าอาหารนอกบ้านและค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาในไตรมาสที่สองมีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีความเป็นไปได้สูงว่าเป็นค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดภาคการศึกษา

แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไทยจะต่ำลงถึง 3 จุด แต่หากพิจารณาดัชนีผู้บริโภคทั่วโลก จะพบว่าเอเชียแปซิฟิคยังคงเป็นภูมิภาคที่มีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมสูงสุด อยู่ที่ 99.6 จุด โดยที่อินโดนีเซียมีระดับความมั่นใจของผู้บริโภคสูงที่สุดในโลก (120.1จุด) เบียดแย่งแชมป์จากอินเดียที่ครองตำแหน่งมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศจีนมีดัชนีลดลงเกือบ 5 จุด จาก 110 จุดเป็น 105.3 จุด และแม้ว่ายุโรปจะมีดัชนีเพิ่มขึ้น 1 จุด แต่ยังนับเป็นภูมิภาคที่มีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำที่สุดในโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ