ม.หอการค้าฯ ชี้ช่องลงทุนในพม่าแนะหาพันธมิตรท้องถิ่นลดความเสี่ยงธุรกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 23, 2012 12:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าพม่าเป็นประเทศที่น่าเข้าไปลงทุนมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากกำลังมีการเปิดประเทศ อย่างไรก็ดี พม่ายังมีปัญหาในเรื่องของเงินลงทุน คุณภาพ มาตรฐานของสินค้า และการขาดทักษะของแรงงาน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาพอสมควร และเห็นว่าการเข้าไปลงทุนในพม่าควรเป็นการเข้าไปร่วมมือกับพันธมิตรในท้องถิ่น โดยยังไม่ควรเข้าไปลงทุนเองทั้งหมด

"การลงทุนในพม่าควรเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรในท้องถิ่น เพราะถ้าลงทุนเอง 100% ถือว่ามีความเสี่ยง เพราะถ้าเป็นเอสเอ็มอีศักยภาพทางด้านเงินทุนอาจจะยังไม่เพียงพอ...ตอนนี้พม่ากำลังอยู่ระหว่างจัดทำกฎหมายเรื่องการลงทุน คาดว่าจะเสร็จภายในเดือนนี้ ก็น่าจะทำให้ภาพการลงทุนต่างๆ มีความชัดเจนขึ้น อยากให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแปลตัวกฎหมายการลงทุน เพื่อจะได้สร้างความเข้าใจกับนักลงทุน และควรเป็นสื่อกลางในการจับคู่ให้กับนักธุรกิจไทยกับพม่า" นายอัทธ์ กล่าวในงานสัมมนา "TMB Borderless on Stage 2012" ตอน "AEC 2015 PROMPT เคลื่อนทัพธุรกิจไทย.....สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน"

อุตสาหกรรมที่น่าสนใจเข้าไปลงทุนในพม่า ได้แก่ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ทั้งอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม, รองเท้า, ประมง, สินค้าเกษตร ทั้งน้ำมันปาล์ม ยางพารา ข้าวและอาหารแปรรูป เนื่องจากพม่ามีอัตราค่าจ้างแรงงานถูกกว่าเมื่อเทียบกับแรงงานในประเทศไทย

ขณะที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์มีโอกาสเติบโตสูง เนื่องจากรถยนต์ส่วนใหญ่ที่ใช้ภายในประเทศเป็นรถมือสอง ซึ่งต้องมีการบำรุงรักษาและซ่อมแซมตลอดเวลา โดยเมืองที่น่าเข้าไปลงทุนมีอยู่ 2 เมือง คือ ย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าของประเทศ ส่วนทวายนั้นมองว่าต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่ง และต้องรอให้การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ พร้อมก่อน

ปัจจุบันมีนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์เข้าไปร่วมลงทุนในพม่าค่อนข้างมาก เช่น การเข้าไปก่อสร้างเมืองและสนามบินเนปิดอร์ซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ โดยมองว่าสิงคโปร์จะเป็นคู่แข่งรายสำคัญของไทยในการเข้าไปลงทุนในประเทศพม่า นอกจากนี้ก็มีกลุ่มทุนจากประเทศเวียดนามที่ได้เข้าไปลงทุนโรงงานผลิตอิฐบล็อก

ส่วนอีกประเทศที่น่าสนใจ คือ อินโดนีเซีย เพราะมองว่าหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 2558 เศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะมีขนาดใหญ่สุดในภูมิภาค เนื่องจากเป็นประเทศที่มีทรัพยากรมากมาย จำนวนประชากรสูงสุด และสามารถเข้าไปลงทุนง่ายกว่าพม่า เพราะกฎหมายต่างๆ มีความพร้อมแล้ว ขณะที่มาตราการเรื่องภาษีก็ไม่เข้มงวดมาก ประกอบกับรายได้ต่อหัวของประชาชนก็อยู่ในระดับสูง โดยเมืองที่น่าสนใจ คือ จาร์กาต้า ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ โดยอุตสาหกรรมที่น่าลงทุน คือ อาหารและวัสดุก่อสร้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ