นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย(CIMBT) และอาจารย์ประจำคณะพัฒนาเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)กล่าวว่า กล่าวถึงจุดอ่อนและอุปสรรคของไทยในการพัฒนาประเทศเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) คือ การเมืองที่ยังคลุมเครือตกลงกันไม่ได้ ประกอบกับโครงสร้างหน่วยงานไทยยังไม่สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่
ขณะที่ภาคเอกชน ไม่ตื่นตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้มากพอ, การใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสารกับประเทศอื่น ซึ่งภาษาอังกฤษของคนไทยยังด้อยมาก และ มีกฎหมายที่ยังล้าสมัย
อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศในอาเซียนต่างยังไม่พร้อมในการเข้าสู่ AEC ในปี 58 ยกเว้นสิงคโปร์ ดังนั้น ในช่วง 4-5 ปีแรกหลังจากเกิด AEC จะอยู่ในช่วงที่ยังไม่ลงตัวนัก แต่การพัฒนาจะเป็นขั้นๆ ไป คาดว่าในปี 63 ความร่วมมือภายใต้ AEC จะเกิดผลอย่างเต็มรูปแบบ แต่ในด้านการค้าขายนั้นอาเซียนเองมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกันอยู่แล้ว แต่การรวมเป็น AEC จะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ส่วนเรื่องการกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษียังเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขกันต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเจรจา
นายบันลือศักดิ์ กล่าวว่า ความหลากหลายของแต่ละประเทศในอาเซียนหากใช้ให้เป็นประโยชน์จะทำให้เกิด Unity และมองว่าการเกิด Hub จะเกิดตามธรรมชาติเป็นไปตามความสามารถของการแข่งขัน ทั้งนี้การกีดกันทางการค้าของแต่ละประเทศมีมากเกินไป ต้องเปิดเสรีให้มากขึ้น ถึงจะเป็น Hub ได้ ส่วนเรื่องที่แข่งขันกับประเทศอื่นไม่ได้ รัฐก็ต้องชดเชยแบกรับภาระต่อไป เช่น น้ำมันปาล์ม
นายจอห์น ปัง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สถาบันวิจัยศึกษา ซีไอเอ็มบี อาเซียน กล่าวในการเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ“มุมมองและผลกระทบของ AEC ต่อภาคการเงิน ตลาดทุน และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ"ว่า การรวมตัวกันของประเทศในอาเซียน ต้องกำหนดบทบาทของแต่ละประเทศให้ชัดเจน โดยอาเซียนถือเป็นชุมทางทวีปที่รายล้อมไปด้วยทางเชื่อมต่างๆ ยิ่งเมื่อพม่าเปิดประเทศทำให้เกิดการติดต่อเชื่อมโยงระหว่างจีนกับมหาสุมทรอินเดีย เช่นเดียวกับไทยที่เชื่อมประเทศทางเหนือของภูมิภาคกับมหาสมุทรต่างๆ ได้
นอกจากนี้ มองว่าการเคลื่อนย้ายแรงงานกว่า 10 ประเทศใน AEC ว่าต้องร่วมมือกันแก้ไขและสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาว โดยใช้ความแตกต่างให้เป็นประโยชน์มากกว่าจะมองเป็นการแข่งขัน
นายชยุตม์ เศรษฐ์บุญสร้าง นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยศึกษา ซีไอเอ็มบี อาเซียน กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจหลายประเทศอาจจะมีการเอาเปรียบกัน หรือแข่งขันกันบ้างเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่มองเป็นการช่วยเหลือกันเพื่อให้เกิดคุณภาพที่ดีขึ้นมากกว่า เพราะตลาดโลกยังใหญ่พอที่จะรองรับได้ ทั้งนี้มองการแข่งขันต้องแข่งกับทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในอาเซียนอย่างเดียว ซึ่งเรื่องข้าวและชิ้นส่วนรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นสินค้าที่ไทยได้เปรียบอยู่แล้ว
นายเกษม พันธ์รัตนมาลา กรรมการหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)กล่าวถึงการเคลื่อนย้ายเงินทุนว่าค่อนข้างมีอิสระพอสมควร โดยไทยลดความเสี่ยงด้านการเมืองด้วยการขยายการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก ทั้งนี้แต่ละประเทศก็มีความสามารถในการแข่งขันต่างกันออกไป เช่น เรื่องทรัพยากรของอินโดนีเซีย ปิโตรเคมีของเวียดนาม ขณะที่ไทยมีกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นกลุ่มดึงเงินให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนและมีแนวโน้มจะแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ
แต่กลุ่มที่ไทยอ่อนแอ เช่น อุตสาหกรรมการเกษตรจำพวก น้ำมันปาล์ม และเฟอร์นิเจอร์ ไทยจะปรับตัวด้วยการย้ายฐานไปลงทุนที่อื่นแทน ทั้งนี้ประเทศเพื่อนบ้านมีข้อได้เปรียบกว่าไทยตรงที่ส่วนใหญ่รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนในต่างประเทศ แต่ไทยนั้นเป็นเอกชนเข้าไปลงทุน