ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(EIC)ธนาคารไทยพาณิชย์ คงคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายที่ 3% ตลอดครึ่งปีหลัง โดยล่าสุด SCB EIC ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี 2555 มาอยู่ที่ 3.2-3.7% จากการชะลอตัวของต้นทุน โดยแนวโน้มการปรับตัวลงของราคาน้ำมันส่งผลต่อการชะลอการปรับขึ้นของราคาสินค้าและบริการ ด้วยเหตุนื้ รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ดังนั้น ความเสี่ยงที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงมีน้อย
น.ส.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ (Chief Economist) และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ SCB กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็มีโอกาสเป็นไปได้น้อย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งหมายความว่าต้นทุนการลงทุนของไทยอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว อีกทั้งการใช้จ่ายภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดี จึงยังไม่มีความจำเป็นที่ ธปท.จะปรับลดดอกเบี้ยในเวลานี้
ทั้งนี้ คาดว่า ค่าเงินบาทน่าจะแกว่งตัวอยู่ในช่วง 30-32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯและมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายปี และเงินสกุลเอเชียรวมถึงเงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายปีเมื่อสถานการณ์ในยุโรปมีความชัดเจนขึ้"
ด้านเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้ดี หลังจากภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ โดยมีการเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตควบคู่ไปกับการลงทุนในเครื่องจักรเพื่อทดแทนส่วนที่เสียหาย โดยเศรษฐกิจไทยยังคงมีความแข็งแกร่งและจะขยายตัวได้ 5.6-5.8% ในปีนี้ตามที่ได้ประเมินไว้เดิม
“เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาถือเป็นเดือนแรกที่ได้เห็นระดับสินค้าคงคลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และมีตัวเลขการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกหลังเหตุการณ์น้ำท่วม โดย EIC ประเมินว่าการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในครึ่งปีหลัง และจะขยายตัวได้ประมาณ 11% ในปีนี้ โดยมีแรงหนุนจากการบริโภคภาคครัวเรือนเป็นสำคัญ" น.ส.สุทธาภา กล่าว
อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยในครึ่งปีหลังยังคงมีความเสี่ยงจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป ซึ่ง SCB EIC ประเมินว่า หากเศรษฐกิจยุโรปหดตัวรุนแรง การส่งออกของไทยโดยรวมเฉลี่ยในปี 55 จะขยายตัวเพียงประมาณ 8% จากเดิมที่น่าจะขยายตัวได้ 11% นอกจากนี้ในระยะกลางและยาว ผู้ส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิ GSP โดยในระยะกลางจะถูกตัดสิทธิเป็นรายสินค้ารวม 50 รายการในวันที่ 1 ม.ค.57 ขณะที่ระยะยาว ไทยมีแนวโน้มจะถูกตัดสิทธิ GSP ในสินค้าทุกชนิดที่ส่งออกไปยุโรปเนื่องจากปัจจุบันไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงแล้ว
“การถูกตัดสิทธิจะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถการแข่งขันด้านราคาและมีโอกาสถูกแย่งตลาดจากประเทศคู่แข่งอื่นๆ ที่มีโครงสร้างการส่งออกที่คล้ายของไทยแต่ยังคงได้รับสิทธิทางภาษี โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ยังคงได้รับสิทธิ GSP เช่น อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และกลุ่มที่มีการบรรลุข้อตกลง FTA กับสหภาพยุโรปแล้วทำให้ได้รับประโยชน์ทางภาษี เช่น มาเลเซีย บราซิล เม็กซิโก และแอฟริกาใต้" น.ส.สุทธาภา กล่าว
ขณะที่การลงทุนภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า จากการเร่งเบิกจ่ายเงินทั้งในและนอกงบประมาณ นอกจากนี้ จะเริ่มเห็นความชัดเจนของโครงการต่างๆภายใต้พรก.บริหารจัดการน้ำมากขึ้น เนื่องด้วยเงื่อนเวลาที่ต้องกระทำการกู้ก่อนเดือนมิถุนายนปีหน้า ดังนั้น การลงทุนของรัฐจะเริ่มมีบทบาทมากขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน
“หนี้สาธารณะของไทย ณ สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 45% ของจีดีพี ซึ่งยังถือว่าไม่น่ากังวล แต่หากมีการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่องและมีการกู้เงินนอกงบประมาณเพิ่มเติมจากปัจจุบัน ก็อาจทำให้ระดับหนี้สาธารณะอยู่เกินกรอบความยั่งยืนทางการคลังเป็นครั้งแรกในปี 2560"
แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 56 ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้ 4.7-5.2% ในปีหน้า โดยมีแรงสนับสนุนมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรกคือการใช้จ่ายภาครัฐที่น่าจะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นจากการใช้จ่ายงบลงทุนภายใต้ พรก.บริหารจัดการน้ำ ปัจจัยที่สองคือ ประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่น่าจะสูงขึ้นจากการทดแทนเครื่องจักรเก่าที่ชำรุดเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม
และปัจจัยสุดท้ายคือตลาด CLMV หรืออินโดจีน อันประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นช่องทางให้ธุรกิจไทยเติบโต" ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงนอกประเทศในช่วง 1-2 ปีข้างหน้ายังคงเป็นปัญหายูโรโซนซึ่งมีความซับซ้อน