IMF คาดเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 25, 2012 13:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุในรายงานการประชุมหารือประจำปีว่าด้วยจีน หรือ Article IV Consultation ว่า เศรษฐกิจจีนอาจมีการชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าเผชิญผลกระทบจากทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น และจีนมีสถานภาพที่ดีในการรับมือกับภาวะถดถอยจากต่างประเทศที่อาจเกิดขึ้น

รายงานของไอเอ็มเอฟระบุว่า “สาเหตุที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายเพื่อชะลอการขยายตัวสู่ระดับที่ยั่งยืนมากขึ้น แต่วิกฤตยูโรโซนที่เลวร้ายลงนับเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีน"

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟประเมินว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ราว 8% ในปีนี้ และหลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ 8.5% ในปี 2556

นอกจากนี้ หากไม่มีภาวะกดดันจากปริมาณผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อัตราเงินเฟ้อของจีนจะอยู่ในช่วง 3.0-3.5% ในปีนี้ และจะปรับลดลงสู่ 2.5-3.0% ในปี 2556

ไอเอ็มเอฟระบุว่า นโยบายเศรษฐกิจมหภาคของจีนมีจุดประสงค์ในการชะลอการขยายตัวสู่ระดับที่ยั่งยืนมากขึ้น และจะยังคงมีการปรับให้สอดคล้องกับสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป

ไอเอ็มเอฟ มองว่าทิศทางทางการคลังของจีนในปัจจุบัน “มีความเหมาะสม" และนโยบายทางการเงิน “สอดคล้อง" กับเป้าหมายทางเศรษฐกิจของประเทศ

รายงานของไอเอ็มเอฟระบุว่า ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนในปัจจุบันลดลงจากระดับสูงสุดที่ 10.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2550 สู่ 2.8% ในปีที่แล้ว ซึ่งไอเอ็มเอฟเชื่อว่าเป็นการสะท้อนถึงการปรับตัวลดลงของยอดเกินดุลทางการค้า ซึ่งส่งผลที่ดีต่อเศรษฐกิจโลก

ผู้บริหารของไอเอ็มเอฟต่างมีความเห็นร่วมกันว่า ความท้าทายหลักๆต่อเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของจีนในอนาคตก็คือการทำให้เศรษฐกิจมีการชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ผลักดันการปฏิรูปเพื่อให้มีการขยายตัวอย่างสมดุลและยั่งยืนมากขึ้น

นายมาร์คัส ร็อดลอเดอร์ รองผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิก กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในกรุงวอชิงตันว่า ในขณะนี้จีนประสบกับความท้าทาย 2 ด้าน คือ "ความจำเป็นในระยะยาวในการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง" และความเร่งด่วนในระยะใกล้เพื่อจัดการกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

นายร็อดเลาเดอร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การขยายตัวที่ชะลอลงของจีน ซึ่งในเบื้องต้นเป็นผลจากการปรับนโยบายของรัฐบาลนั้น เกิดขึ้นในขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะซบเซา ซึ่งมีสาเหตุจากความตึงเครียดระลอกใหม่ในยูโรโซน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ