(เพิ่มเติม) กนง.มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 3%หลังปรับลดคาดการณ์ GDP-เงินเฟ้อทั่วไป

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 25, 2012 14:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ที่ประชุม กนง.วันนี้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.00% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ พร้อมปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโต 5.7% จากเดิมคาด 6% รวมทั้งคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับลดลงเหลือ 2.9% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.3%

ทั้งนี้ การประชุมวันนี้คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.00% ต่อปี โดย 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี

"เสียงส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินในขณะนี้อยู่ในภาวะผ่อนปรน เพียงพอที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศในระยะต่อไป และสามารถรองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกจโลกได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ จะติดตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ในประเทศอย่างใกล้ชิดและพร้อมดำเนินนโยบายที่เหมาะสมตามความจำเป็น"นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าว

ที่ประชุม กนง.พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไปเพื่อกำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม สำหรับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากเหตุการณ์น้ำท่วมและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยอุปสงค์ในประเทศมีแรงสนับสนุนจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลาย สินเชื่อภาคเอกชนที่ขยายตัวสูง ภาวะการจ้างงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งนโยบายกระตุ้นของภาครัฐที่มีอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อไป

"คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวใกล้เคียงกับศักยภาพ และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย สะท้อนว่าการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในขณะนี้ยังมีความเหมาะสม"นายไพบูลย์ กล่าว

แต่ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงกว่าที่เคยคาดไว้ ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมจะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิม ในขณะเดียวกันแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศอ่อนลง โดยประมาณการเงินเฟ้อในระยะต่อไปอยู่ในกรอบเป้าหมาย

ขณะที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในภาคการจ้างงานและการบริโภค และความล่าช้าของการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของกลุ่มประเทศยูโร ความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจจีนผ่านการส่งออกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ส่วนแรงกดดันเงินเฟ้อโลกลดลงตามอุปสงค์ที่อ่อนลง ทำให้ธนาคารกลางในบางประเทศสามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อดูแลความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ