(เพิ่มเติม1) กนง.มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 3%หลังปรับลดคาดการณ์ GDP-เงินเฟ้อทั่วไป

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 25, 2012 15:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ที่ประชุม กนง.วันนี้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.00% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ พร้อมปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโต 5.7% จากเดิมคาด 6% รวมทั้งคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับลดลงเหลือ 2.9% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.3% โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะแถลงถึงคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในวันที่ 3 ส.ค.นี้

ทั้งนี้ การประชุมวันนี้คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.00% ต่อปี โดย 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี

"เสียงส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินในขณะนี้อยู่ในภาวะผ่อนปรน เพียงพอที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศในระยะต่อไป และสามารถรองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกจโลกได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ จะติดตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ในประเทศอย่างใกล้ชิดและพร้อมดำเนินนโยบายที่เหมาะสมตามความจำเป็น"นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าว

ที่ประชุม กนง.พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไปเพื่อกำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม สำหรับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากเหตุการณ์น้ำท่วมและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยอุปสงค์ในประเทศมีแรงสนับสนุนจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลาย สินเชื่อภาคเอกชนที่ขยายตัวสูง ภาวะการจ้างงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งนโยบายกระตุ้นของภาครัฐที่มีอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อไป

"คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวใกล้เคียงกับศักยภาพ และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย สะท้อนว่าการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในขณะนี้ยังมีความเหมาะสม"นายไพบูลย์ กล่าว

แต่ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงกว่าที่เคยคาดไว้ ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมจะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิม ในขณะเดียวกันแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศอ่อนลง โดยประมาณการเงินเฟ้อในระยะต่อไปอยู่ในกรอบเป้าหมาย

ขณะที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในภาคการจ้างงานและการบริโภค และความล่าช้าของการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของกลุ่มประเทศยูโร ความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจจีนผ่านการส่งออกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ส่วนแรงกดดันเงินเฟ้อโลกลดลงตามอุปสงค์ที่อ่อนลง ทำให้ธนาคารกลางในบางประเทศสามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อดูแลความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

*กนง.ลดคาดการณ์ GDP-เงินเฟ้อของไทย,พร้อมใช้นโยบายการเงินเหนือกว่าคาดหากศก.โลกทรุดหนัก

นายไพบูลย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะมีผลกระทบมาถึงเศรษฐกิจไทย ทำให้คาดว่าการส่งออกปีนี้จะเติบโตลดลงเหลือ 7% จากเดิมคาดไว้ที่กว่า 8% พร้อมทั้งตัดสินใจปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยในปี 55 ลงเหลือ 5.7% จากเดิมคาดไว้ 6% ส่วนในปี 56 ลดลงมาที่ 5% จากเดิม 5.4% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ลดเหลือ 2.9% จาก 3.3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใกล้คาดการณ์เดิมที่ 2.2%

กนง.มองความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวมีสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน แต่เศรษฐกิจในประเทศช่วงครึ่งปีแรกยังฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอุปสงค์ที่อั้นมาจากช่วงน้ำท่วม ทำให้เกิดการลงทุนและซ่อมแซม เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ช่วงไตรมาส 1/55 แต่หากมองระยะข้างหน้าต่อไป การลงทุนดังกล่าว และการลงทุนใหม่ ๆ อาจจะลดลง

แม้ว่ากรรมการ กนง.2 เสียงเห็นว่าควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมครั้งนี้ แต่ที่ประชุมเห็นตรงกันมากกว่าเห็นต่างกัน เพราะเศรษฐกิจไทยขณะนี้มาถึงจุดที่ฟื้นตัวอย่างน่าพอใจ ช่วงที่ผ่านมาการขยายตัวในระดับที่ใช้ได้ รวมทั้งความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้ามีสูงขึ้นและจะทอดยาวออกไป รวมถึงมีความอ่อนแอยืดเยื้อ ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะที่เงินเฟ้อระยะข้างหน้ายังไม่น่าเป็นห่วง โดยขณะนี้เคลื่อนไหวอยู่ในระดับกลาง ๆ ของเป้าหมาย

ทั้งนี้ กนง.มองว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่ในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยได้ตามความเหมาะสม ส่วน 2 เสียงที่เห็นต่างไปนั้นมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 55-56 มีความอ่อนแอลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และสิ่งที่เห็นต่างคือมองว่าการประเมินความความเสี่ยงอาจจะน้อยเกินไป และแรงกระตุ้นจากนโยบายการคลังที่จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปอาจมีความล่าช้า จึงอยากส่งสัญญาณให้ภาคเอกชนตระหนักถึงความเสี่ยงในระยะข้างหน้า ดังนั้น เสนอให้ลดดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อประคับประคองการบริโภค และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม เสียงส่วนใหญ่ยังเห็นว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวใกล้เคียงศักยภาพ โดยเงินเฟ้อก็ยังอยู่ระดับกลางของเป้าหมาย ขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวดี การเงินผ่อนคลาย ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจระยะต่อไป ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ที่ใกล้เคียง 0% และเทียบกับภูมิภาคยังอยู่ในระดับต่ำกว่า

กนง.ส่วนใหญ่ที่เห็นว่าควรคงอัตราดอกเบี้ยมองว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ยือเยื้อ และความเสี่ยงระยะข้างหน้ามีมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเก็บกระสุนไว้ใช้ในยามจำเป็น แม้ว่ากนง.ทั้งหมดตระหนักถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อเศรษฐกิจไทย แต่อาจจะห่วงในน้ำหนักที่ต่างกันในแต่ละประเด็น ซึ่งมติ กนง.เห็นว่าควรจะผ่อนคลายนโยบายการเงินบ้างและติดตามความเสี่ยงใกล้ชิดต่อไป โดยยังสามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินหากจำเป็น

"หากมีโอกาสที่สถานการณ์โลกเลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก กนง.ก็จะทำนโยบายการเงินมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ตอนนี้ประเทศไทยดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอยู่แล้ว มองไปข้างหน้าความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ได้ทำให้ทิศทางนโยบายการเงินถูกกระทบมากนัก ดังนั้นเสียงส่วนใหญ่จึงเห็นว่าการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหมาะสมที่สุด"นายไพบูลย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ