SCB EIC ชี้ยกระดับความร่วมมือโครงการทวายเป็นรัฐ-รัฐช่วยเสริมความมั่นใจ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 26, 2012 11:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า การยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาโครงการทวายเป็น “รัฐ-รัฐ" ช่วยฉายแนวโน้มเชิงบวกของโครงการ นับตั้งแต่การระงับการสร้างโรงไฟฟ้าในโครงการทวาย และการถอนตัวของบริษัท Max Myanmar จากกลุ่มผู้ถือหุ้น เริ่มทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลมากขึ้นต่อความเป็นไปได้ของโครงการ ดังนั้น การที่รัฐบาลไทยและพม่าต่างให้ commitment ในการร่วมพัฒนาโครงการทวายเช่นนี้ นับเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนและช่วยให้นักธุรกิจกลับมาให้ความสนใจในโครงการทวายอีกครั้ง

อนึ่ง เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและพม่าได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจระดับทวิภาคี ว่าด้วยการให้ความร่วมมือพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และการปฏิรูปประเทศพม่า นอกจากนั้น ยังมีการหารือในเรื่องการเปิดด่านการค้าชายแดนถาวรเพิ่มเติมในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และกาญจนบุรีอีกด้วย

"รัฐบาลไทยได้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นรูปธรรมมากขึ้นของเส้นทางเชื่อมโยง“ทวาย-แหลมฉบัง"เนื่องจากรัฐบาลไทยได้อนุมัติการสร้างทางด่วนไปแล้ว 2 เส้น ได้แก่ ช่วงบ้านพุน้ำร้อน-อ.เมืองกาญจนบุรี และช่วงกาญจนบุรี-บางใหญ่ ในขณะที่อิตัลไทยรับผิดชอบเส้นทางบ้านพุน้ำร้อนเข้าสู่โครงการทวาย ซึ่งการเชื่อมโยงทั้งหมดนี้จะช่วยร่นระยะเวลาเดินทางได้ครึ่งหนึ่ง เช่น การเดินทางไปอินเดียโดยปกติจะใช้เวลาร่วม 6 วันผ่านแหลมมลายู แต่ถ้าใช้เส้นทางผ่านทางทวายแล้วจะใช้เวลาเพียง 3 วัน"SCB EIC ระบุ

ทั้งนี้ การยกระดับโครงการทวายน่าจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่อุตสาหกรรมต้นน้ำของไทยที่ต้องการย้ายฐานการผลิตไปยังทวายในอนาคตเพื่อลดต้นทุน นอกจากนั้น เส้นทาง “ทวาย-แหลมฉบัง" ไม่เพียงแต่จะเพิ่มโอกาสให้แก่ภาคขนส่งของไทยเท่านั้น ยังจะช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจและบริการโดยรอบเส้นทางคมนาคมดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ การให้ความร่วมมือปฏิรูปประเทศพม่าของรัฐบาลไทย เปิดโอกาสมากขึ้นแก่นักลงทุน โดยนักธุรกิจที่หวังลงทุนใน infrastructure แต่ยังไม่พร้อมรับความเสี่ยงด้วยตัวเองนั้นจะวางใจได้มากขึ้น เนื่องจากมีโอกาสได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยและได้รับการยอมรับจากรัฐบาลพม่ามากยิ่งขึ้น

SME ไทยจะได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน จากแนวโน้มการค้าชายแดนที่จะคึกคักมากขึ้น SME ที่ต้องการหาตลาดใหม่แต่ยังขาดกำลังทุนที่จะเข้าไปลงทุนโดยตรงในพม่า สามารถเริ่มมองหาช่องทางธุรกิจผ่านการค้าชายแดนได้ก่อน ซึ่งแนวโน้มการมีด่านถาวรไทย-พม่าเพิ่มขึ้นจะเอื้อประโยชน์กับ SME ให้มีทางเลือกในการกระจายสินค้าสู่ตลาดย่อยของพม่าตามแนวชายแดนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ