นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังแสดงความเชื่อมั่นว่า ทั้งปีไทยจะยังคงเป็นแชมป์ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ด้านปริมาณการส่งออกข้าวทั้งปี คาดว่าการออกมาเปิดเผยข้อมูลของภาคเอกชนช่วงนี้เป็นเพียงการนำสถิติช่วงระยะสั้นออกมาเปิดเผยเท่านั้น
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก โดยที่ผ่านมารัฐบาลสามารถขยับราคาข้าวเปลือกเพิ่มขึ้นจาก 8,000-9,000 บาทต่อตัน เป็น 11,000 บาทต่อตัน ขณะที่ข้าวส่งออกขยับจาก 400-500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เป็น 600 ดอลลารสหรัฐต่อตันสำหรับข้าวขาว
ส่วนกรณีผู้ประกอบการค้าข้าวออกมาระบุว่าไทยเสียแชมป์จากอันดับ 1 เป็นอันดับ 3 ของโลกนั้น ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า หลังจากไทยปรับเปลี่ยนนโยบายการค้าข้าวในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เพื่อต้องการผลักดันราคาให้ขยับสูงขึ้น เพราะต้องการดูแลเกษตรกรชาวนาให้มีรายได้สูง พบว่า ไทยยังเป็นแชมป์ส่งออกตลอด โดย 6 เดือนแรกของปีนี้สามารถส่งออกข้าวได้ถึง 3.7 ล้านตัน แต่เนื่องจากขณะนี้อินเดียและเวียดนามเร่งส่งออกจึงทำปริมาณเพิ่มขึ้น ส่วนไทยต้องการขยับราคาข้าวให้สูงขึ้นเพื่อเน้นการขายข้าวที่มีคุณภาพ
ดังนั้น เมื่อรัฐบาลประมูลข้าวในสต็อกรัฐบาล ภาคเอกชนกลับพากันกดราคาจึงต้องล้มประมูล และเมื่อรัฐบาลพยายามระบายข้าวออกโดยขายแบบจีทูจี เอกชนมักจะอ้างว่าทำให้ตลาดข้าวได้รับความเสียหาย
"ที่ผ่านมาเอกชนผู้ส่งออกได้รับประโยชน์จากการขายข้าวพอแล้ว จากนี้ไปต้องการให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น จึงกำหนดราคารับจำนำสูงโดยปีที่ผ่านมาไทยส่งออกข้าวได้ถึง 10.6 ล้านตัน เวียดนามส่งออก 6 ล้านตัน ต่อไปรัฐบาลจะเน้นขายข้าวคุณภาพที่ได้ราคา ไม่เน้นการส่งออกเพื่อหวังปริมาณให้สูง"นายยรรยง กล่าว
ส่วนในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าไทยจะส่งออกได้มากกว่า 5 ล้านตัน ทำให้ทั้งปี คาดว่าจะส่งออกได้รวมตามเป้าหมายที่ประมาณ 9.5 ล้านตัน
"อีก 5 เดือนที่เหลือ คาดว่าจะขายข้าวทั้งในส่วนของเอกชนและข้าวรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) ได้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตัน ที่จะขายได้แน่ๆ ก็มีอินโดนีเซีย 1.5 ล้านตัน อิรัก 600,000 ตัน โกดติวัวร์ 240,000 ตัน แอฟริกาใต้รวมๆ กัน 2-3 ล้านตัน ตลาดอื่นๆ อีก 1.5 ล้านตัน ยังไม่รวมตลาดข้าวคุณภาพดีอย่างสหรัฐฯ จีน ยุโรป ฮ่องกง และหากขายจีทูจีได้เพิ่มขึ้นอีก ยังไงก็ทำได้ตามเป้า" นายยรรยงกล่าว
สำหรับการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล ยืนยันว่าระบายอย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้ เพราะจะใช้วิธีการเปิดประมูลให้ผู้สนใจซื้อยื่นซองเสนอราคาซื้อเข้ามา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติกรอบตั้งแต่เดือนมี.ค.55 ให้ระบายได้ 700,000 ตันข้าวสาร แต่ขณะนี้ยังระบายออกไม่หมด เพราะผู้ส่งออกกดราคาเสนอซื้อต่ำเกินไป ส่วนนักวิชาการอย่าให้ข่าวที่ทำให้ข้าวราคาตกหรือทุบราคาข้าวและทำลายตลาดข้าวของไทย ทั้งเรื่องรัฐบาลไม่มีโกดังเก็บข้าว ไม่มีงบประมาณในการรับจำนำ เป็นหนี้มากหรือขาดทุน
อย่างไรก็ตาม การรับจำนำของรัฐบาล ทำให้ราคาข้าวไทยสูงขึ้นได้จริง โดยราคาข้าวสารหอมมะลิ ก่อนการใช้นโยบายจำนำ หรือในช่วงรัฐบาลก่อนอยู่ที่ตันละ 1,010 เหรียญสหรัฐฯ ขณะนี้ 1,084 เหรียญฯ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 เพิ่มขึ้นจากตันละ 543 เหรียญฯเป็น 600 เหรียญฯ ข้าวขาว 5% เพิ่มขึ้นจากตันละ 527 เหรียญฯเป็น 585 เหรียญฯ ข้าวนึ่ง เพิ่มขึ้นจาก ตันละ 546 เหรียญฯเป็น 602 เหรียญฯ หรือเฉลี่ยราคาสูงขึ้นตันละ 50-100 เหรียญฯ ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ เพิ่มขึ้นจากตันละ 12,600-15,000 บาท เป็น 14,700-16,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 5%เพิ่มจากตันละ 8,800-9,700 บาท เป็น 9,900-11,000 บาท
สำหรับกรณีการประชุมเชิงปฏิบัติการประชาคมเศรษฐอาเซียน (เออีซี) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เตรียมเสนอที่ประชุมจับมือกับประเทศผู้ผลิตข้าวไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่าซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกข้าวรวมกันคิดเป็น 2 ใน 3 ของโลก เพราะเป็นฐานการผลิตข้าวและส่งออกรายใหญ่ของโลก เพื่อจับมือเป็นพันธมิตรมากกว่าที่จะมาเป็นคู่แข่ง
"มาร่วมกันพัฒนาข้าวแบ่งเกรดข้าวตามราคา ข้าวคุณภาพดีต้องขายราคาสูง ข้าวคุณภาพปานกลางจะมีราคาลดลงเพื่อให้ตลาดโลกและผู้บริโภคมีโอกาสเลือก และการจับมือกันจะสามารถผลักดันราคาข้าวสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร"นายยรรยง กล่าว
ส่วนการขาดดุล 6 เดือนแรก 360,000 ล้านบาทนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะในช่วงที่ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นขยายกิจการ ขยายการลงทุน จึงต้องนำเข้าวัตถุดิบ อุปกรณ์ เครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ใช่เป็นการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยสินค้าสำเร็จรูป เมื่อนำเข้ามาแล้วจะนำมาผลิตก่อให้เกิดการส่งออกในช่วง 4 เดือนข้างหน้า ดังนั้นการขาดดุลการค้าเพื่อการลงทุนถือเป็นเรื่องไม่น่าตกใจ เพราะเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก