นายไฮโค ปีเตอร์ส นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารดอยช์แบงก์ของเยอรมนีกล่าวว่า รายงานของกลุ่มทรอยก้า ซึ่งประกอบด้วยสหภาพยุโรป (อียู) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เกี่ยวกับกรีซนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับกลุ่มประเทศยูโรโซน และกล่าวว่าชะตากรรมของกรีซในยูโรโซนขึ้นอยู่กับการดำเนินการของรัฐบาลกรีซในระยะนี้
นายปีเตอร์สระบุว่า รายงานของทรอยก้าจะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับสถานะในการดำเนินการตามมาตรการรัฐเข็มขัดและการปฏิรูปของกรีซ ภายหลังได้รับเงินช่วยเหลือ 2 ครั้ง เพื่อช่วยให้กรีซยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้
เขากล่าวว่า การปฏิบัติตามข้อตกลงในการปฏิรูปของกรีซมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้ประสบความล้มเหลวในการตั้งรัฐบาล "ณ ขณะนี้ ยังไม่มีการดำเนินการปฏิรูปอย่างจริงจัง และนั่นคือปัญหาใหญ่" เขากล่าว
นายปีเตอร์สระบุว่า เขาคิดว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากที่กลุ่มทรอยก้าจะประณีประนอมในเรื่องการให้ความช่วยเหลือในครั้งที่ 2 ซึ่งมีรายงานว่ารัฐบาลกรีซเรียงร้องวงเงินเพิ่ม ซึ่งนายปีเตอร์สประเมินว่ากรีซต้องการเงินทุนเพิ่มเติมจากเจ้าหนี้ในช่วงอีก 2 ปี กว่า 1 หมื่นล้านยูโร (1.2 หมื่นล้านดอลลาร์)
นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่กลุ่มทรอยก้าจะปรับลดวงเงินช่วยเหลือลง ซึ่งอาจนำไปสู่การพ้นสถานะประเทศยูโรโซนและการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซ ซึ่งสอดคล้องกับที่นายมาริโอ ดรากิ ประธานอีซีบีกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ของฝรั่งเศสเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ยูโรโซนไม่ได้อยู่ในภาวะที่อาจมีการแยกตัว
นายปีเตอร์สกล่าวถึงสาเหตุที่วิกฤตหนี้สินมีความยืดเยื้อว่า เนื่องมาจากอัตราการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่ไม่ยั่งยืนของภาคเอกชนและภาครัฐบาลของประเทศยูโรโซนบางประเทศ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลอยู่ในระดับสูงในกรีซและอิตาลีในช่วงก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นอย่างมากของต้นทุนค่าแรงท่ามกลางปัจจัยต่างๆ ยังส่งผลให้ภาคการส่งออกของยูโรโซนมีศักยภาพด้านการแข่งขันที่ลดลงด้วย
สำหรับวิธีในการแก้ปัญหาวิกฤต นายปีเตอร์สระบุว่า "ผมคิดว่า ในขณะนี้ยังไม่มีวิธีเดียวที่สามารถแก้ได้ทุกปัญหา" พร้อมกับเสริมว่า ท่ามกลางการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก การแก้ปัญหาอาจจะต้องใช้ระยะเวลายาวนานขึ้น ซึ่งอาจจะถึงทศวรรษหรือมากกว่านั้น สำหรับประเทศที่ต้องสร้างความสมดุลให้กับเศรษฐกิจของตนเอง สำนักข่าวซินหัวรายงาน