สศอ.เผยดัชนี MPI มิ.ย.ลด 9.6% มีแนวโน้มชะลอตัวต่อในเดือนก.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 27, 2012 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สศอ.เผยดัชนีอุตสาหกรรมไตรมาส 2 ฟื้นตัวเพิ่มมากขึ้นหลังเจอภัยน้ำท่วม แม้ MPI ติดลบ 1.61% แต่มีอัตราการใช้กำลังการผลิต 69.2% เตือนเฝ้าระวังสินค้าส่งออกที่อิงตลาดยุโรป ผลจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา

นายโสภณ ผลประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) (Manufacturing Production Index - MPI) ไตรมาสที่ 2 เดือนมิถุนายน 2555 ติดลบ 1.61% และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 69.2% เป็นผลมาจากภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยการดำเนินฟื้นฟูเยียวยานิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม 7 แห่ง ที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี ขณะนี้มีโรงงานประกอบกิจการแล้ว 658 ราย คิดเป็น 78.43% ของโรงงานทั้งหมด 839 ราย (ข้อมูล ณ มิถุนายน 2555)

ส่วนการดำเนินการฟื้นฟูโรงงานขนาดใหญ่ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ประสบอุทกภัย ซึ่งตั้งอยู่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรม ขณะนี้มีโรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเปิดดำเนินการแล้ว 7,783 ราย คิดเป็น 98.61% ของสถานประกอบการทั้งหมด 7,893 ราย (ข้อมูล ณ มิถุนายน 2555)

สำหรับภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) (Manufacturing Production Index - MPI)เดือนมิถุนายน 2555 มีอัตรา 182.39 กลับมาติดลบ 9.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหลังจากขยายตัวเป็นบวกในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากอุตสาหกรรม Hard disk drive และแผงวงจรไฟฟ้า โดยสาเหตุเกิดจากปัจจัยทางเทคนิคในส่วนของฐานการคำนวณที่สูงมากใน 2 อุตสาหกรรม คือ Hard disk drive และแผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งในเดือนมิถุนายน 2554 ทั้ง 2 อุตสาหกรรมฟื้นตัวกลับมาได้หลังเหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่นทำให้มีการเร่งผลิตเป็นอย่างมาก ประกอบกับอุตสาหกรรม Hard disk drive และแผงวงจรไฟฟ้า มีสัดส่วนเกือบ15% ใน MPI ดังนั้นเมื่อ 2 อุตสาหกรรมนี้มีการเปลี่ยนแปลงจึงส่งผลต่อ MPI ค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ดี เดือนมิถุนายน 2555 การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ(ไม่รวมทองคำ) หดตัว 12.1% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 9.9% จากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่หดตัวจะสะท้อนการลดลงของการผลิตในอนาคต ทั้งนี้ ทาง สศอ. จะได้ติดตามใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ สศอ.คาดการณ์การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมปี 2555 โดย GDP อุตสาหกรรมจะขยายตัว 4.5-5.5 และ MPI จะขยายตัว 6-7% โดยมีปัจจัยบวกคือการทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรมที่จะเร่งตัวกลับมาเพื่อชดเชยในช่วงน้ำท่วม การขยายตัวเพิ่มขึ้นเศรษฐกิจในประเทศจากการดำเนินนโยบายของรัฐ เช่น นโยบายรถคันแรก นโยบายจำนำสินค้าเกษตร (ข้าว ยางพารา) ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท การลงทุนทดแทนความเสียหายจากน้ำท่วมและในโครงการเพื่อป้องกันน้ำท่วม

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวถึงแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมดือนกรกฎาคม 2555 ว่า การที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2555 จะเติบโต 3.5% ซึ่งชะลอตัวจากที่เคยประเมินไว้เมื่อเมษายนที่ผ่านมาที่มีอัตรา 3.6% ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งถึงภาคอุตสาหกรรมไทยมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในภาวะเสี่ยงสูงขึ้นจากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปยืดเยื้อ ส่งผลต่ออุตสาหกรรมที่พึ่งตลาดยุโรป ซึ่งมีสัดส่วน 11% ของการส่งออกทั้งหมด

นอกจากนี้ตลาดส่งออกจีนที่มีสัดส่วน 12% ที่เป็นตลาดสำคัญตลาดหนึ่งของไทย อาจจะขยายตัวลดลงทำให้อุปสงค์ของจีนเริ่มชะลอจากการส่งออกไปยุโรปที่จีนส่งออกสินค้าไปยุโรปถึง 19% อาจทำให้ความต้องการนำเข้าของจีนลดลงได้เช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ