(เพิ่มเติม) ธปท.คาดค่าเงินบาทครึ่งปีหลังผันผวนสูง,ดอกเบี้ยในตลาดยังไม่เข้าสู่ขาขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 27, 2012 14:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มองว่า ค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลังยังผันผวนสูง จากปัจจัยภายนอก ความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งปัญหาสถาบันการเงินยุโรปที่ยังมีความยืดเยื้อ ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มขาดดุลจะทำให้แรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าลดลง แต่ภาพรวมค่าเงินบาทยังเป็นทิศทางที่แข็งค่าอยู่

“เรื่องสหรัฐ ยุโรป เป็นเรื่องที่เราต้องคุยกันอีกหลายไตรมาส โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้าย อาจจะมีปัญหากระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทแน่ๆ เพราะขณะนี้หลายประเทศในภูมิภาค มีการทบทวนตัวเลขการส่งออกใหม่ เฉพาะไทย ครึ่งแรกหดตัวไป 2-3% โดยในเดือนมิ.ย.หดตัวไปอย่างมาก" นางผ่องเพ็ญ กล่าว

นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า ธปท.สนับสนุนให้การค้าระหว่างประเทศในภูมิภาค ใช้เงินสกุลเดียวกันในภูมิภาคในการชำระค่าสินค้า เพื่อลดความผันผวนของดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบันค่าเงินบาทเทียบยูโรและการส่งอกไปยุโรปน้อยลง ทำให้รายได้ที่ได้กลับมาเป็นบาทลดลง

สำหรับสภาพคล่องในระบบปัจจุบันถือว่ามีสูงมาก แม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการใช้เงิน 3.5 แสนล้านบาทในโครงการบริหารจัดการน้ำ และอีก 2 ล้านล้านบาทในการวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเริ่มมีการนำเข้าจากต่างประเทศมาในโครงการต่าง ๆ เมื่อใด จึงยังไม่เห็นความต้องการซื้อดอลลาร์ของรัฐบาล

"ตอนนี้การลงทุนมาจากภาคเอกชนมากกว่า ทั้งการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่และการออกไปลงทุนต่างประเทศ ดังนั้นตอนนี้ยังไม่เห็นแรงกดดันให้สภาพคล่องลดลง"

อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังจับตาการขยายตัวของสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ยังเติบโตสูงอยู่ แต่โดยรวมแล้วไม่ถึงกับเป็นสัญญาณเขย่าเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินไทย

ด้านนายประสาร ไตรรัตนวรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ไม่คิดว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดระยะปานกลางและระยะยาวอยู่ในขาขึ้น แต่อาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยพิเศษของธนาคารบ้างในบางช่วง เป็นระยะสั้นๆ ถือเป็นเรื่องปกติของระบบ

ตั้งแต่ปลายปี 54 ถึงต้นปี 55 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดนโยบายดอกเบี้ย 2 ครั้ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบน้ำท่วมและรักษาความเชื่อมั่นของตลาดการเงิน แต่ว่าขณะนี้ตัวเลขหลายตัวของเศรษฐกิจไทย ฟื้นจากผลของน้ำท่วมครบทุกด้าน แต่อาจมีบางจุดที่มีปัญหาอยู่ ดังนั้น เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศก็เริ่มกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ อัตราเงินเฟ้อแผ่วลง โดยวิ่งหาค่ากลางของเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปี 0.5-3% โดยค่ากลางอยู่ที่ 1.75% ทำให้ ธปท.ปรับประมาณการเงินเฟ้อพื้นฐานตลอดปีนี้มาอยู่ที่ 2.2% และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับมาใกล้ศูนย์

สำหรับประเด็นที่ กนง.มีความเห็นต่างกัน 5 ต่อ 2 เสียง คือเสียงข้างน้อยมองว่าควรทำนโยบายการเงินล่วงหน้า เพราะเศรษฐกิจโลกมีความขมุกขมัวเป็นสีเทา ขณะที่อีก 5 เสียง ให้คงดอกเบี้ย แม้จะมองว่าเศรษฐกิจโลกขมุกขมัวเช่นกัน แต่ก็เห็นว่าว่าพายุที่จะมาจะรุนแรงค่ไหนมองไม่ชัดเจน ดังนั้น ควรที่จะเก็บแรงและกำลังเอาไว้ก่อน

นายประสาร กล่าวว่า จากที่ได้ร่วมประชุมผู้ว่าการธนาคารกลาง 11 ประเทศที่ญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ก่อน จากการได้คุยกับผู้นำธนาคารกลาง อื่นๆ หลายประเทศ และผู้นำทางการเงิน เช่น ไอเอ็มเอฟ มีข้อสรุปคล้ายกัน 3 ประเด็น คือ ประการแรก ปัญหาเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น เป็นปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง ปัญหามาจากปัจจัยพื้นฐาน ดังนั้นคงมีความยืดเยื้อยาวนาน ต่างจากปัญหาที่เกิดในเชิงวัฎจักร ซึ่งแก้ปัญหาง่ายและใช้ระยะเวลาสั้น แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างจะมีความยืดเยื้อ และการจัดการกับปัญหาต้องแก้ไขผ่านปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจซึ่งใช้เวลานาน ประเทศเล็ก โดยเฉพาะไทยจะต้องหานโยบายป้องกัน และลดผลกระทบของปัญหาโดยจะต้องเลือกนโยบายให้มีความเหมาะสม และต้องระมัดระวังในการใช้นโยบายและมองปัญหาในภาพรวมในระยะยาวด้วย

ประการถัดมา เห็นว่าต้องเสริมสร้างศักยภาพของความเข้มแข็งเศรษฐกิจในประเทศ ลดการพึ่งพาการส่งออก ซึ่งการเสริมสร้างศักยภาพของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไป เช่น จีน ก่อนหน้านี้เน้นการลงทุน แต่ขณะนี้ปรับมาเป็นการบริโภคในประเทศแทน ในส่วนของไทยการบริโภคของไทยเริ่มดีขึ้น มีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของ GDP ถือว่าไม่น้อย ดังนั้นไทยต้องหันมาปรับโครงสร้างการลงทุนด้วยเพื่อให้การบริโภคเร่งตัวขึ้นในอนาคต

และประการที่สาม เสริมสร้างความแข็งแกร่งของประสิทธิภาพของระบบการเงิน ต้องติดตามให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ ขณะที่ ธปท.ไม่ได้มีหน้าที่กำกับดูแลโดยตรง แต่เคยเสนอให้กระทรวงการคลังเข้าไปดูแลขอบเขตในการทำงานและคุณภาพสินเชื่อ ซึ่ง ธปท. มีความเป็นห่วง เพราะบางกรณีเกินขอบเขต วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง รวมทั้งเกินขอบเขตมาตรฐานการให้สินเชื่อ ซึ่งเราได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะดูแลกันได้เรียบร้อย

"ตอนนี้ output gap ของไทยเข้าสู่ระดับศักยภาพ เงินเฟ้อพื้นฐานเข้าสู่จุดกึ่งกลางที่ 1.75% จากเป้าหมาย 0.5-3% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงใกล้ศูนย์ เศรษฐกิจเข้าสู่ระดับศักยภาพ" ผู้ว่า ธปท. กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ