ธนาคารโลกซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตันเปิดเผยว่า ธนาคารพร้อมรับมือกับความผันผวนของราคาอาหารโลกอันเนื่องมาจากความกังวลต่างๆ ที่รวมถึงภัยแล้งในสหรัฐ
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ตัวเลขของธนาคารโลกบ่งชี้ว่า ปีนี้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นทุกอย่างแม้แต่ธัญพืชที่ไม่ใช่ข้าว โดยราคาข้าวสาลีเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% นับแต่กลางเดือนมิถุนายน ราคาข้าวโพดเพิ่มขึ้นมากกว่า 45% นับแต่กลางเดือนมินายน และราคาถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นเกือบ 30% นับแต่ต้นเดือนมิถุนายน
นายจิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลกแถลงว่า "เมื่อราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นมาก ประชาชนก็จะแก้ไขปัญหาโดยการให้ลูกออกจากโรงเรียนและบริโภคอาหารที่ถูกลง คุณค่าทางโภชนาการน้อยลง ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบระยะยาวอย่างใหญ่หลวงทั้งทางด้านสังคม ร่างกายและจิตใจของเด็กๆหลายล้านคน"
"ธนาคารโลกและพันธมิตรของเราจับตาดูเหตุการณ์นี้อย่างใกล้ชิด เพื่อที่เราจะสามารถช่วยรัฐบาลผลักดันนโยบายที่ช่วยให้ประชาชนจัดการปัญหานี้ได้ดียิ่งขึ้น"
ผลกระทบจากภัยแล้งของสหรัฐต่อตลาดโลกมีมากขึ้นเมื่อประเทศอื่นๆต่างก็กำลังเผชิญกับปัญหาการผลิตเนื่องจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่เช่นกัน ฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องเกือบตลอดเวลาเป็นปัญหาต่อการเพาะปลูกข้าวสาลีในประเทศยุโรปหลายประเทศ แต่ในทางตรงกันข้ามการเพาะปลูกข้าวสาลีในรัสเซีย ยูเครนและคาซัคสถานกำลังประสบปัญหาภัยแล้งขั้นรุนแรง
นายคิมระบุว่า "ธนาคารโลกได้เตือนมานานแล้วว่าเราจะเผชิญกับราคาธัญพืชที่ผันผวนและสูงกว่าค่าเฉลี่ยจนถึงปี 2558 เป็นอย่างน้อยที่สุด ในกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดซึ่งประชาชนใช้จ่ายเงิน 2 ใน 3 ของรายได้ต่อวันไปกับอาหารนั้น ราคาที่เพิ่มสูงขึ้นคือภัยคุกคามต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเสถียรภาพของสังคม"
ทั้งนี้ นายคิมซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นเดือนนี้ยังกล่าวด้วยว่า มาตรการจำพวกโครงการอาหารกลางวัน การโอนเงินสดอย่างมีเงื่อนไข และโครงการอาหารเพื่อการทำงาน จะสามารถบรรเทาแรงกดดันต่อคนจนได้ในระยะสั้น
เขาเน้นย้ำว่า "ในระยะกลางและระยะยาว โลกต้องการนโยบายที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพและการลงทุนอย่างยั่งยืนในเกษตรกรรมของประเทศที่ยากจน เราไม่อาจยอมให้ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้นก่อผลกระทบระยะยาวต่อประเทศที่ยากจนและอ่อนแอที่สุดของโลก