นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ในฐานะตัวแทนสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THCA) และตัวแทนจากสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ได้เข้าหารือและชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการยกร่างสัญญารับจ้างสร้างบ้าน ตามที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่งตั้งขึ้น เพื่อชี้แจงถึงสาระสำคัญในสัญญามาตรฐานของสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ตามที่สมาชิกทุกรายใช้ปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน ว่ามีที่มาและหลักเกณฑ์การกำหนดรายละเอียดในสัญญาอย่างไร
ทั้งนี้ มีประเด็นสำคัญๆ ตามที่ประชุมสอบถามและขอความเห็นจากทั้ง 2 สมาคมว่า หากสคบ.จะกำหนดข้อความหรือบังคับเงื่อนไขบางกรณีไว้ในสัญญาฯ สมาชิกสมาคมจะสามารถนำไปปฏิบัติได้หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น กรณีการนับระยะเวลาเริ่มต้นตามสัญญาสร้างบ้านนั้น ขอให้ระบุในสัญญาให้เริ่มนับตั้งแต่ “วันที่เซ็นสัญญา" ได้หรือไม่ ซึ่งกรณีนี้สมาคมไทยรับสร้างบ้าน “เห็นด้วย" เพราะปัจจุบันก็ใช้ปฏิบัติอยู่แล้ว
ขณะที่อุปนายกสมาคมฝ่ายกฎหมาย ตัวแทนสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ระบุ “ไม่สามารถปฏิบัติได้" เพราะลักษณะธุรกิจของสมาชิกมีความแตกต่างกัน ประการถัดมา กรณีผู้รับจ้างก่อสร้างล่าช้ากว่าสัญญา ทางสมาคมไทยรับสร้างบ้านได้เสนอว่า ควรกำหนดค่าปรับให้เหมาะสมกับค่าเสียโอกาส และเพื่อความยุติธรรมต่อผู้บริโภค โดยชี้ให้เห็นถึงสัญญามาตรฐานของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ระบุค่าปรับไว้ “ร้อยละ 0.05 ของเงินค่าก่อสร้างงวดงานที่เหลือ โดยปรับเป็นรายวัน" ซึ่งหากดูเผินๆ อาจคิดว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าสัญญารับเหมาก่อสร้างทั่วไป หรือสัญญาของสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ที่ระบุไว้ “ร้อยละ 0.01 ของค่างานก่อสร้างทั้งหมดตามสัญญา หรือไม่ต่ำกว่าวันละ 400 บาท"
ตัวอย่างเช่น ราคาบ้าน 2 ล้านบาท เหลือเงินงวดสุดท้าย 5 เปอเซ็นต์เป็นเงิน 100,000 บาท ฉะนั้นหากค่าปรับร้อยละ 0.05 ต่อวันของเงินค่าก่อสร้างงวดงานที่เหลือ จะเท่ากับวันละ 50 บาทหรือเดือนละ 1,500 บาท ในขณะที่หากคิดค่าปรับร้อยละ 0.01 ต่อวันของค่างานก่อสร้างทั้งหมดจะเท่ากับวันละ 200 บาท หรือ 6,000 บาทต่อเดือน หรือใช้เกณฑ์ขั้นต่ำวันละ 400 บาทต่อวันก็จะเท่ากับ 12,000 บาทต่อเดือน ซึ่งสมาคมฯ เห็นว่าสมเหตุสมผลกว่า
อีกประการหนึ่ง สมาคมไทยรับสร้างบ้านเสนอว่า เรื่องการรับประกันคุณภาพ ซึ่งเห็นว่าการสร้างบ้านหลังหนึ่งมีมูลค่าสูงนับล้านบาท ฉะนั้นการรับประกันสินค้าจึงควรมากกว่า 1 ปีหรืออย่างน้อย 2 ปี เหมือนเช่นธุรกิจรถยนต์ที่ปัจจุบันรับประกันนานถึง 3 ปี ทั้งนี้สมาคมฯ พบว่าการรับประกันทั่วไปในสัญญารับจ้างสร้างบ้านของบริษัทรับสร้างบ้าน ส่วนใหญ่กำหนดไว้แค่ 1 ปีเท่านั้น จึงเสนอว่าควรเพิ่มระยะเวลารับประกันเป็น 2 ปี
นายสิทธิพร กล่าวเสริมว่า ตนเองยังได้เสนอข้อมูลและความเห็นให้ที่ประชุมฯ ทราบว่า จากการตรวจสอบเชิงลึกต่อกรณีข้อพิพาท ระหว่างบริษัทรับสร้างบ้านกับผู้บริโภคทุกรายนั้น สมาคมฯ พบว่า เมื่อผู้ว่าจ้างชำระเงินค่าก่อสร้างให้แก่ผู้รับจ้างหรือบริษัทรับสร้างบ้านแล้ว ปรากฏว่าไม่มีการออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีใดๆ มีแต่เอกสารว่าได้รับเงินแล้วเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้รับจ้างเจตนาหลบเลี่ยงภาษี เพื่อหวังทำกำไรเพิ่มด้วยการไม่นำส่งภาษีแก่รัฐ หรืออาจเป็นการสมยอมกันของทั้งสองฝ่าย เพื่อทำให้ราคารับจ้างสร้างบ้านต่ำลง
ดังนั้น สมาคมฯ จึงเสนอให้ทาง สคบ. เชิญตัวแทนจากกรมสรรพากรเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการยกร่างสัญญาฉบับนี้ด้วย เพื่อจะได้ช่วยวางกรอบสัญญาให้สามารถควบคุมเรื่องนี้ และใช้กฎหมายภาษีจัดการกับผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งเรื่องนี้คณะอนุกรรมการจะประชุมพิจารณาขั้นต่อไป
อย่างไรก็ดี สัญญาควบคุมรับจ้างสร้างบ้าน ทางสคบ.เพิ่งจะเริ่มต้นการยกร่างเท่านั้น ซึ่งยังต้องผ่านกระบวนการพิจารณาและรับฟังความเห็นอีกหลายขั้นตอน ระหว่างนี้ผู้บริโภคที่จะเลือกสร้างบ้านกับผู้ประกอบการายใด จึงต้องมีความระมัดระวังและอย่าเลือกเพราะราคา โดยเฉพาะราคาที่ลดลงเพราะว่าข้อเสนอให้หลบเลี่ยงภาษี มิฉะนั้นอาจตกเป็นเหยื่อของผู้ประกอบเจ้าเล่ห์เหล่านี้