ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองจีดีพี Q2 โต 2.6% หวังลงทุนภาครัฐขับเคลื่อนศก.ครึ่งหลัง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 31, 2012 18:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2/55 น่าจะขยายตัวสูงกว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี แต่คาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 2.6% น้อยกว่าเดิมที่คาดไว้ที่ 3.6% อันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมิ.ย.55 มีทิศทางที่ปะปนจากสัญญาณลบของภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ยุโรป ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนกลับมาหดตัวจากระดับในเดือนก่อนหน้า หลังจากที่ได้รับแรงหนุนอย่างต่อเนื่องตามการเร่งตัวเพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากภาวะอุทกภัย

ทั้งนี้ แม้ภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 55 จะไม่สามารถรักษาสัญญาณการฟื้นตัวได้อย่างมั่นคง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการใช้จ่ายภายในประเทศตลอดทั้งไตรมาส 2/55 ก็ช่วยหนุนให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อระดับราคาสินค้าในระหว่างไตรมาส 2/55 เข้าสู่ช่วงชะลอตัว พร้อมๆ กับการผลักดันมาตรการเพิ่มรายได้และกระตุ้นการใช้จ่ายภาคเอกชนตามโครงการต่างๆ ของรัฐบาล

ทั้งนี้ การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาสที่ 2/55 หดตัวลง 0.4% และ 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากที่หดตัวลง 4.0% และ 6.9% ในช่วงไตรมาส 1/55 ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นมาที่ 4.8% และ 18.3% ในไตรมาสที่ 2/55 จากที่ 4.1% และ 9.1% ในไตรมาสแรกตามลำดับ

"ปัจจัยลบจากบรรยากาศที่ซบเซาของเศรษฐกิจโลกท่ามกลางความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้ยุโรป ทำให้เส้นทางการฟื้นตัวหลังผลกระทบน้ำท่วมของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกล่าช้าออกไป ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราการเติบโตของจีดีพีไทยในช่วงไตรมาส 2/55 อาจมีค่าประมาณร้อยละ 2.6" เอกสารเผยแพร่ระบุ

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 55 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมองว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นในช่วงไตรมาส 3/55 และไตรมาส 4/55 เนื่องจากปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบ แต่ต้องยอมรับว่าวิกฤตหนี้ยุโรปและทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในช่วงชะลอตัวในหลายๆ ภูมิภาค อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและโมเมนตัมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ขณะที่สินค้าส่งออกที่ประสบปัญหาการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน อาทิ สินค้าเกษตรบางประเภท (เช่น ข้าว) และสินค้าที่เน้นใช้แรงงานเป็นปัจจัยในการผลิต ก็คงยากที่จะกลับมาขยายตัวได้อย่างมั่นคงในช่วงที่เหลือของปี

ดังนั้น แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 55 จะมีปัจจัยบวกจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน แต่คงต้องคาดหวังว่าการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งในส่วนของการเร่งเบิกจ่ายและผลักดันการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน (โดยเฉพาะในส่วนที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการรัฐบาล) จะทำหน้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง

สำหรับประมาณการทั้งปี 55 นั้น แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะคงประมาณการกรณีพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ 5.0% แต่เนื่องจากสัญญาณลบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 55 มาที่ 4.5-5.5% จากกรอบเดิมที่ 4.5-6.0%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ