นอกเหนือไปจากวิกฤตหนี้ยุโรปและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐนับเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ โดยเฉพาะในช่วงปีนี้และปีหน้า ที่สหรัฐจะเผชิญความเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอต่อเนื่อง จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนพ.ย.นี้ และความท้าทายที่รุนแรงอีกประการหนึ่งที่อาจจะมีการพูดถึงบ่อยขึ้นในช่วงระยะหลังนี้ก็คือ ภาวะ Fiscal cliff!!!
ถ้าจะแปลตามคำศัพท์ก็คือ “หน้าผาทางการคลัง" คำว่า หน้าผาก็น่าจะบ่งชี้ถึงความเสี่ยง ประมาณว่าถ้าก้าวพลาด ก็อาจจะดิ่งเหวลงไปได้ ซึ่งก็เปรียบเหมือนเศรษฐกิจของสหรัฐซึ่งมีความเสี่ยงที่จะดิ่งฮวบลงในระยะเวลาอันใกล้นี้ หากไม่มีการดำเนินมาตรการเพื่อรับมือ
Fiscal cliff หมายถึงภาวะที่มาตรการด้านนโยบายหลายประการของสหรัฐมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งก็คือในช่วงรอยต่อระหว่างสิ้นปี 2555 และต้นปี 2556 โดยมาตรการที่สำคัญซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอเมริกันโดยตรงนั่นก็คือมาตรการปรับลดภาษีและการปรับลดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล
มาตรการปรับลดภาษีที่ว่าก็คือ มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ขนานใหญ่ที่อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชได้นำมาใช้ในปี 2544 และ 2546 ที่กำลังจะสิ้นอายุลงในสิ้นปี 2555 นี้ ซึ่งจะส่งผลให้ชาวอเมริกันที่เผชิญภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองอยู่แล้ว ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น
ส่วนการลดรายจ่ายของรัฐบาล กระบวนการปรับลดงบประมาณที่เป็นไปโดยอัตโนมัติจะเริ่มมีผลในวันที่ 2 มกราคม 2556 หลังจากที่ในปีที่แล้ว คณะกรรมาธิการ “super committee" ของสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงรายจ่ายกันได้ โดยการปรับลดงบประมาณนี้จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายลง 8.6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2556 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการลดงบประมาณที่รัฐสภาอนุมัติเป็นรายปี และราวครึ่งหนึ่งจะเป็นการลดงบประมาณในด้านกลาโหม
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการย่อยอื่นๆที่ต่างก็จะสิ้นอายุลงในปลายปีนี้ เช่น การจัดสรรเงินสวัสดิการสำหรับผู้ว่างงาน เมื่อมาตรการให้เงินสวัสดิการดังกล่าวสิ้นสุดลง รัฐบาลจะลดรายจ่ายได้ราว 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2556 และเมื่ออิงกับแนวโน้มรายได้และรายจ่ายในปัจจุบัน หนี้สาธารณะของสหรัฐมีแนวโน้มพุ่งแตะเพดานที่ 16.4 ล้านล้านดอลลาร์ในราวปลายปีนี้ โดยอาจจะมีการขยายเพดานหนี้ออกไปเป็นต้นปี 2556 ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ
เมื่อต้นเดือนก.ค. ประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐ ได้ประกาศแผนอย่างเป็นทางการที่จะขยายระยะเวลาของมาตรการภาษีบุชเฉพาะผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 250,000 ดอลลาร์ แต่ก็ไม่ได้เปิดเผยถึงแผนหรือข้อเสนอด้านนโยบายใหม่ๆแต่อย่างใด นอกจากการเรียกร้องให้สภาคองเกรสปล่อยให้มาตรการปรับลดภาษีสมัยอดีตปธน.บุชสิ้นสุดลงสำหรับชาวอเมริกันที่มีรายได้เกินกว่า 250,000 ดอลลาร์ต่อปีเท่านั้น
ด้วยเม็ดเงินจำนวนมากที่จะถูกดึงออกจากระบบเศรษฐกิจของประเทศ อันเป็นผลมาจากมาตรการปรับขึ้นภาษีและลดรายจ่ายของรัฐบาลดังกล่าวนั้น แม้ว่าจะทำให้รายได้ของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ก่อให้เกิดความกังวลว่า เศรษฐกิจของสหรัฐอาจจะดิ่งฮวบลงสู่ภาวะถดถอยเหมือนการตกจากหน้าผาสูง โดยหลายฝ่ายได้ออกมาประเมินมูลค่าเม็ดเงินที่จะหดหายไปจากระบบ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญโดยทั่วไปคาดกันว่า จะคิดเป็นมูลค่าราว 6.07-7.50 แสนล้านดอลลาร์
สำนักงบประมาณของสภาคองเกรส (CBO) คาดว่า การปรับขึ้นภาษีและการลดรายจ่ายทั้งหมดจะมีผลในการดึงเม็ดเงิน 6.07 แสนล้านดอลลาร์ออกจากระบบเศรษฐกิจ หรือคิดเป็นราว 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดย CBO ระบุว่าหากไม่มีปัญหาทางการคลัง จีดีพีสหรัฐจะปรับตัวลง 1.3% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 และหลังจากนั้นจะดีดตัวขึ้น 2.3% ในช่วงครึ่งปีหลัง
ในกรณีที่มีการขยายระยะเวลาของมาตรการปรับลดภาษีออกไปและไม่มีการปรับลดงบประมาณโดยอัตโนมัติ CBO คาดว่า จีดีพีจะขยายตัว 1.7% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 และเติบโตต่อเนื่อง 2.5% ในช่วง 6 เดือนหลัง
แบงก์ ออฟ อเมริกา (BofA) เชื่อว่า เม็ดเงินที่ระบบเศรษฐกิจอาจจะต้องสูญเสียไปจากภาวะ fiscal cliff อาจมีมูลค่าสูงถึง 7.20 แสนล้านดอลลาร์ หรือกว่า 4.5% ของจีดีพี โดย BofA คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะมีการเติบโต 1.4% ในปี 2556 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 2.5% ขณะที่มอร์แกน สแตนลีย์ระบุว่าผลกระทบอาจสูงถึง 5% ของจีดีพี
จากการประเมินดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ตัวเลขของ BofA และมอร์แกน สแตนลีย์ค่อนข้างแตกต่างจากตัวเลขของ CBO อย่างมาก เนื่องจาก CBO ใช้การเปรียบเทียบในรายปีงบประมาณ ซึ่งก็คือในช่วงเดือนต.ค.-ก.ย. ในการประเมินผลกระทบ ขณะที่ภาวะ fiscal cliff ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนม.ค.2556
อย่างไรก็ตาม ยูบีเอสคาดว่า มีโอกาสไม่ถึง 5% ที่จะเกิดภาวะ fiscal cliff แต่หากเกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดจริงๆ จีดีพีของสหรัฐจะหดตัวลงราว 4.7% และคาดว่าสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย
แม้ว่าจะมีการพูดถึงภาวะ fiscal cliff กันมาหลายเดือนก่อนหน้านี้แล้ว แต่จะเห็นได้ว่าเฉพาะในช่วงเดือนก.ค.ที่ผ่านมา หลายฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นในเชิงวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะดังกล่าวค่อนข้างชัดเจน
ดอยช์ แบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี ประกาศปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกสำหรับปี 2555 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากวิกฤตยูโรโซนที่ยืดเยื้อ แต่ดอยช์ แบงก์ก็ยังระบุถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆต่อการปรับตัวขาลงของเศรษฐกิจโลก ซึ่งรวมถึงการหดตัวทางการคลังที่รุนแรงเกินคาดในสหรัฐ การปรับตัวย่ำแย่ของตลาดแรงงานและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะ fiscal cliff ซึ่งมาตรการปรับลดภาษีจะสิ้นสุดลงในปลายปีนี้และจะมีการปรับลดงบประมาณรายจ่ายในต้นปีหน้า
ทางด้านนายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รมว.คลังสหรัฐ เรียกร้องให้สภาคองเกรสจัดการกับความท้าทายด้านงบประมาณของสหรัฐ ก่อนที่จะเกิดภาวะ fiscal cliff หรือสถานการณ์มาตรการปรับลดภาษีสิ้นสุดลงและมีการปรับลดงบประมาณรายจ่าย ในปี 2556 โดยกล่าวว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับวิกฤตหนี้ยุโรปและปัญหาการเมืองในประเทศเป็นปัจจัยถ่วงการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยย้ำว่าคองเกรสมีเครื่องมือด้านนโยบายเศรษฐกิจที่มีศักยภาพมากที่สุด
ในไตรมาสแรกปีนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐขยายตัว 1.9% และคาดกันว่า อัตราการเติบโตจะชะลอลงในช่วงไตรมาส 2 โดยระบุว่านอกเหนือจากปัญหายุโรป ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงเมื่อต้นปีนี้แล้ว การลดรายจ่ายของรัฐบาลสหรัฐก็มีส่วนทำให้เศรษฐกิจชะลอลง
ในขณะเดียวกัน นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาซานฟรานซิสโก กล่าวกับสื่อในประเทศว่า การจัดการกับปัญหาว่างงานที่อยู่ในระดับสูงของสหรัฐถือเป็นเรื่องที่ยากลำบาก หากเฟดไม่ดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม โดยกล่าวเตือนว่า เศรษฐกิจของสหรัฐกำลังเผชิญความเสี่ยงช่วงขาลงที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตหนี้ยูโรโซน ภาวะ fiscal cliff ซึ่งจะมีการลดรายจ่ายและเพิ่มภาษีในราวสิ้นปีนี้ และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบใหม่หรือ QE3 นายวิลเลียมส์กล่าวว่า หากเฟดจะเริ่มใช้มาตรการกระตุ้นทางการเงินรอบใหม่ ก็น่าจะมีการพิจารณาการผ่อนคลายเชิงปริมาณที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจ
ส่วนมุมมองที่ตลาดและนักวิเคราะห์อาจจะให้น้ำหนักมากเป็นพิเศษก็คือความคิดเห็นของนายเบน เบอร์นันเก้ ผู้กุมบังเหียนเฟดที่แถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภาสหรัฐไปเมื่อช่วงวันที่ 17-18 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยกล่าวเตือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเผชิญภาวะถดถอยแบบตื้นๆ หากมาตรการปรับลดภาษีสิ้นสุดลงและมีการปรับลดงบประมาณรายจ่ายในต้นปีหน้า หรือที่เรียกว่าภาวะ fiscal cliff และระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราการสร้างงานลดลงราว 1.25 ล้านตำแหน่งในปี 2556
ประธานเฟดกล่าวว่า ตลาดมีความผันผวนเพิ่มขึ้นและความเชื่อมั่นลดลงในฤดูร้อนที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการอภิปรายที่ยืดเยื้อประเด็นการปรับเพิ่มเพดานหนี้ ผลกระทบที่คล้ายคลึงกันอาจจะเกิดขึ้นเมื่อประเด็นเพดานหนี้และปัญหาทางการคลังอื่นๆปรากฏชัดมากขึ้นในช่วงใกล้สิ้นปีนี้ ขณะที่รัฐบาลมีแนวโน้มจะปรับขึ้นภาษีและลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลลงหลายระลอกในช่วงเดือนม.ค.ปีหน้า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายปัจจุบัน ขณะที่เพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐจะต้องมีการปรับเพิ่มอีกครั้งในปลายปี 2555 หรือต้นปี 2556 โดยนายเบอร์นันเก้มีความกังวลว่าภาวะ fiscal cliff อาจจะบั่นทอนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง
อุปสรรคทางการเมือง
อุปสรรคประการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาทางการคลังของประเทศก็คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนพ.ย.ปีนี้ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆจะสิ้นอายุลงในช่วงสิ้นเดือนธ.ค.ปีนี้เช่นกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่าประธานาธิบดีและรัฐบาลที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งอาจมีเวลาไม่มากพอที่จะสามารถจัดการปัญหาทางการคลังของประเทศเพื่อเลี่ยงภาวะ fiscal cliff โดยอาจะไม่สามารถขยายระยะเวลาของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกไปได้ทันภายในเวลาเพียงแค่เดือนเศษๆ เมื่อพิจารณาถึงความล้มเหลวของรัฐสภาสหรัฐที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการปรับลดรายจ่ายและเพิ่มเพดานหนี้ในช่วงปี 2554
นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันจะมีเจตนารมณ์เดียวกันที่จะช่วยให้ประเทศสามารถเลี่ยงภาวะ fiscal cliff และมีความเห็นสอดคล้องกันในด้านการปรับลดรายจ่าย แต่ก็มีแนวนโยบายที่แตกต่างกันในประเด็นการปรับเพิ่มภาษี โดยพรรคเดโมแครตผลักดันให้สภาคองเกรสต่อเวลาออกไปอีก 1 ปี ในการใช้มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 250,000 ดอลลาร์ต่อปี แต่ให้มีการปรับขึ้นภาษีสำหรับครอบครัวที่มีรายได้สูงกว่านั้นในปี 2556 แต่พรรครีพับลิกันโต้แย้งว่า สหรัฐควรจะต่ออายุให้แก่มาตรการลดหย่อนภาษี สำหรับคนทุกกลุ่มเพื่อจะได้ไม่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ จึงดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากที่จะมีการผสานความแตกต่างนี้ในช่วงปีจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
หลายฝ่ายมองว่าหากสหรัฐมีการขยายระยะเวลาของมาตรการปรับลดภาษีหรือการปรับลดร่ายจ่ายอัตโนมัติออกไปอีก ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ เพราะหนี้สาธารณะของสหรัฐไม่ได้ลดลงและยังคงอยู่ในระดับสูง และการปรับลดอันดับเครดิตของสหรัฐอาจส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลออกจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐไปยังประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือดีกว่า
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2555 ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาลสูงถึง 15.85 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเกือบจะแตะระดับเพดานหนี้ที่คองเกรสกำหนดไว้ที่ราว 16.4 ล้านล้านดอลลาร์ จึงทำให้มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐต้องมีการขยายเพดานหนี้ในอนาคตอันใกล้
ในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐยังไม่มีความชัดเจนจนกว่าจะหลังการเลือกตั้งในเดือนพ.ย. และยังมีความไม่แน่นอนว่าสหรัฐจะสามารถรอดพ้นวิกฤตหน้าผาการคลังนี้ได้นั้น บทบาทสำคัญอาจจะตกอยู่ที่เฟดว่าอาจจะเข้ามามีส่วนสำคัญอีกครั้งหนึ่งในการช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาทางการคลังที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจของประเทศ ในระหว่างที่สถานการณ์ทางการเมืองยังเผชิญกับทางตัน
อย่างไรก็ตาม นับแต่การประชุมนโยบายการเงินในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา เฟดมีท่าทีที่จะรอดูสถานการณ์ในการเข้าแทรกแซง โดยระบุว่าเฟดพร้อมจะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม แต่มีข้อแม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะต้องส่งสัญญาณที่ย่ำแย่มากกว่านี้
ท่ามกลางข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคของสหรัฐที่น่าผิดหวังในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการพูดถึงกันมากขึ้นเกี่ยวกับแนวทางและกำหนดเวลาที่เฟดจะยื่นมือเข้ามาจัดการกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยคาดกันว่าเฟดอาจดำเนินมาตรการใหม่ๆในการประชุมในช่วงวันที่ 31 ก.ค.-1 ส.ค.
แต่ใช่ว่านักวิเคราะห์ทุกคนจะมีความเห็นสอดคล้องกัน เนื่องจากมีกระแสคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะยังไม่ประกาศใช้มาตรการ QE3 ด้วยการซื้อพันบัตรล็อตใหญ่ในการประชุมซึ่งจะเสร็จสิ้นในคืนวันนี้ ตามเวลาไทย โดยมีความเป็นไปได้ว่า เฟดจะชะลอการเปิดเผยแผนการซื้อตราสารหนี้รัฐบาลและที่อยู่อาศัย วงเงินรวม 6 แสนล้านดอลลาร์ ไปจนกว่าจะถึงการประชุมเดือนก.ย.
เราคงต้องจับตาดูผลการประชุมเฟดในคืนวันนี้ว่า เฟดจะหาทางออกให้กับเศรษฐกิจสหรัฐอย่างไร และภาวะ fiscal cliff ที่นายเบอร์นันเก้ ประธานเฟดได้ส่งสัญญาณเตือนนั้นจะเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักและความรุนแรงมากพอที่จะส่งผลให้เฟดออกมาตรการ QE3 ที่นักลงทุนและนักวิเคราะห์ทั่วโลกคาดหวังกันมาเป็นเวลานาน เพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจไปพลางๆ ก่อนที่ประเทศจะเผชิญกับหน้าผาการคลังที่สูงชันจริงๆในช่วงปลายปีนี้หรือไม่ และแม้ว่านโยบายการเงินของเฟดอาจจะไม่สามารถช่วยชดเชยปัญหาทางการคลังหนนี้ได้ทั้งหมด แต่ก็คงดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐอยู่ในภาวะย่ำแย่อยู่แล้ว หากปล่อยไว้จนเรื้อรังเกินเยียวยาและยังต้องเจอกับภาวะ fiscal cliff อีกคงไม่ต้องจินตนาการถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจว่าจะรุนแรงสาหัสเพียงใด???