อินโดนีเซียขาดดุลการค้า $1.32 พันล้านในมิ.ย.หลังยอดนำเข้าสูงกว่าส่งออก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 1, 2012 16:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรยามิน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซีย (BPS) เปิดเผยว่า อินโดนีเซียขาดดุลการค้า 1.32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. สืบเนื่องจากประเทศมีการนำเข้ามูลค่า 1.669 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ส่งออกเพียง 1.536 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายสุรยามินกล่าวว่า ปัจจัยหลักของการขาดดุลการค้าคือ เงื่อนไขการชำระเงินในส่วนน้ำมันและก๊าซของประเทศที่ติดลบ 1.377 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า อินโดนีเซียขาดดุลการค้ากับหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน คิดเป็นมูลค่า 727.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขาดดุลการค้ากับประเทศไทยมูลค่า 3.069 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ได้เปรียบดุลการค้ากับมาเลเซีย 1.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ อินโดนีเซียยังคงขาดดุลการค้ากับจีนมากที่สุด ด้วยมูลค่า 4.045 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในเดือนมิ.ย. การส่งออกโดยรวมของอินโดนีเซียอยู่ที่ 1.533 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลง 16.44% จาก 1.839 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว และเมื่อเปรียบเทียบตัวเลขของเดือนก่อนหน้า การส่งออกปรับตัวลง 8.7%

ขณะที่การส่งออกรวมในช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย.ปีนี้อยู่ที่ 9.688 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลง 1.76% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

นายสุรยามินกล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซ ณ เดือนมิ.ย. มีมูลค่า 7.683 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือปรับลดลง 2.79% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว

โดยตลาดส่งออกหลักสำหรับสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซของอินโดนีเซีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐ ซึ่งนายสุรยามินระบุว่า ยอดส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซไปยังประเทศเหล่านี้ คิดเป็นสัดส่วน 34.66% ของการส่งออกทั้งหมดของอินโดนีเซีย

ด้านการนำเข้ารวมของอินโดนีเซียในเดือนมิ.ย.ปีนี้ มีมูลค่า 1.669 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 10.71% จากระดับ 1.507 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

สำหรับยอดนำเข้ารวมในระหว่างเดือนม.ค.-มิ.ย. อยู่ที่ 9.641 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.35% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยสินค้านำเข้าส่วนใหญ่ของอินโดนีเซียมาจากจีน ญี่ปุ่น และไทย สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ