นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมสนับสนุนแนวทางการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เนื่องจากระหว่างปี 2555-2562 กระทรวงคมนาคม มีแผนที่จะดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองรวม 5 เส้นทาง วงเงิน 192,071 ล้านบาท โดยมีโครงการเร่งด่วน 2 เส้นทาง คือ เส้นทางบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม.วงเงิน 60,620 ล้านบาท และเส้นทางบางใหญ่-นครปฐม-กาญจนบุรี ระยะทาง 98 กม. วงเงิน 45,946 ล้านบาท
สำหรับแนวทางการจัดตั้งกองทุนฯ จะนำรายได้จากโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน 2 เส้นทาง คือ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 กรุงเทพฯ-ชลบุรี และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ถนนกาญจนภิเษก มาจัดตั้งเป็นกองทุนรวมและระดมทุนกับประชาชนที่สนใจซื้อกองทุน โดยคาดว่าหากจัดเก็บค่าธรรมเนียมค่าผ่านทางตามปัจจุบัน กองทุนนี้จะสามารถระดมทุนได้ประมาณ 40,000 ล้านบาท ขณะที่รายรับปี 2555 คาดว่าจะอยู่ที่ 3,836 ล้านบาท รายจ่ายทั่วไปอยู่ที่ 536 ล้านบาท และรายจ่ายประเภทลงทุนอยู่ที่ 2,007 ล้านบาท
“การใช้เงินทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน มีต้นทุนทางการเงินสูงกว่าการใช้เงินกู้ แต่ต่ำกว่าการลงทุนแบบรัฐร่วมเอกชน หรือ พีพีพี และการออกพันธบัตร โดยประโยชน์ของการระดมทุนผ่านการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน คือ สามารถระดมทุนโดยไม่เป็นหนี้สาธารณะ รวมทั้งเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้ประชาชนในภาวะดอกเบี้ยต่ำ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง อีกทั้งเป็นการพัฒนาตลาดทุน โดยเฉพาะกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่สำคัญจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรงบประมาณในการบริหารและพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่รอบคอบมากขึ้น" นายชัชชาติ กล่าว
สำหรับอัตราค่าผ่านทางหลังจากจัดตั้งกองทุนฯ จะไม่ทำให้อัตราค่าผ่านทางเพิ่มขึ้น แต่หากจะมีการปรับขึ้นค่าผ่านทางก็ต้องกำหนดไว้ชัดเจนตั้งแต่แรกให้กับนักลงทุนทราบว่าจะมีการปรับค่าผ่านทางเท่าใดและเมื่อใด ขณะที่การยกเว้นค่าผ่านทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์ ก็ต้องกำหนดให้ชัดเจนตั้งแต่แรกว่าจะยกเว้นหรือไม่ด้วย เพื่อให้การปฏิบัติตามสัญญาไม่มีปัญหาในอนาคต