(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคก.ค. 68.2 จาก 68.5 ในมิ.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 3, 2012 13:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนก.ค.55 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 68.2 ลดลงจากเดือนมิ.ย.ซึ่งอยู่ที่ 68.5

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 69.3 ลดลงจากเดือนมิ.ย.ซึ่งอยู่ที่ 69.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 96.8 ลดลงจากเดือนมิ.ย.ซึ่งอยู่ที่ 97.8

สำหรับสาเหตุที่ดัชนีทุกตัวปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า เป็นผลมาจากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย, ผู้บริโภคกังวลปัญหาการเมืองในความไม่สอดคล้องกันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ, การค้าระหว่างประเทศเดือนมิ.ย.ขาดดุลกว่า 500 ล้านดอลลาร์ และผู้บริโภคยังกังวลต่อปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง

ส่วนปัจจัยบวกในเดือนมิ.ย. ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สามารถดำเนินการได้ ส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย, กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3%, SET INDEX เดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 27.19 จุด, ครม.ขยายเวลาปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลอีก 1 เดือน และเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

"สาเหตุที่ดัชนีความเชื่อมั่นลดลง มาจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ จนทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดประมาณการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจเหลือ 5.7% จากเดิมคาด 6% และมูลค่าการส่งออกขายตัวเหลือ 7% จากเดิมคาด 8% ประกอบกับ มีการปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซินในประเทศ ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองไม่แน่นอน การส่งออกที่ลดลง และขาดดุลการค้า และความวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพ "นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว

นอกจากนี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง มีโอกาสที่จะเติบโตต่ำ และทำให้ทั้งปีนี้เติบโตได้ 5-5.5% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 5.5-6% ขณะที่ไตรมาสสองจะขยายตัวเหลือ 2.5-3% ต่ำกว่าเดิมที่คาดไว้ 3-4% เพราะปัญหาเศรษฐกิจโลก และการส่งออกชะลอตัว รวมทั้งภาคการเงินได้ส่งสัญญาณเสี่ยงมากขึ้น หลังจากแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อน้อยกว่าเงินฝาก สะท้อนว่ากำลังการใช้จ่ายและการลงทุนมีโอกาสชะลอตัว

ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งอัดฉีดงบลงทุนหรืองบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและก่อให้เกิดการจ้างงาน, การสร้างเสถียรภาพและการปรองดองทางการเมือง, การเร่งบริหารจัดการน้ำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนและภาคธุรกิจ, การดูแลราคาสินค้า และค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง, การควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ และการหามาตรการรับมือผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ