(เพิ่มเติม) ธปท.ปรับคาดการณ์ GDPปี 55-56 หลังศก.โลกชะลอ หวังภาคเอกชนขับเคลื่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 3, 2012 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย หรือ GDP ในปี 55 ลงมาที่ 5.7% จากครั้งก่อนที่ 6.0% และสำหรับในปี 56 ได้ปรับลดประมาณการลงค่อนข้างมากจาก 5.8% มาอยู่ที่ 5% จากภาวะเศรษฐกิจโลกทีอ่อนแอลงที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบกับแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายของภาครัฐน้อยกว่าที่คาดไว้

ทั้งนี้ ธปท.คาดว่า GDP ไตรมาส 2/55 จะเติบโต 3.5% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน, ไตรมาส 3/55 อยู่ที่ 3.2% ,ไตรมาส 4/55 อยู่ที่ 16.7% เป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อน โดยรวมทำให้ GDP ครึ่งแรกของปีนี้เติบโต 1.8% ส่วนครึ่งปีหลังเติบโต 9.7% และเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 5.7%

"ปัจจัยที่ทำให้ GDP ลดลง 0.3% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ เพราะปัจจัยด้านการคลัง ความล่าช้าในการใช้จ่ายของภาครัฐกระทบ GDP 0.3% การส่งออกชะลอตัวกระทบ 0.4% แต่ในช่วงไตรมาสแรก GDP บวก 0.4% ทำให้ทั้งปี GDP ลดลงจากคาดการณ์แค่ 0.3% แต่การเติบโตที่ระดับ 5% ถือว่าน่าพอใจใกล้เคียงกับศักยภาพของเรา"นายไพบูลย์ กล่าวในการแถลงรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับล่าสุด

ธปท.คาดว่าการส่งออกช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัว 16.3% มูลค่าเฉลี่ยต่อเดือน 21.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้จะยังอยู่ในระดับสูง แต่เป็นอัตราที่ชะลอลงจากที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ โดยการส่งออกในครึ่งปีแรกติดลบ 2.1% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 54 ซึ่งทั้งปีน่าจะขยายตัว 7% ถือเป็นระดับที่น่าพอใจในสถานการณ์เช่นนี้ และเศรษฐกิจโลกจะส่งผลต่ออุปสงค์ในประเทศให้ชะลอลง

ประกอบแรงกระตุ้นภาครัฐมีน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยคาดว่าการเบิกจ่ายเงินงบประมาณปี 55 ของภาครัฐจะทำได้ 92.5% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย จากเดิมคาดไว้ 94% ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจะลดลงมาที่ 69% จากที่ตั้งไว้ 74% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด และต่ำกว่าปีงบประมาณ 54 ที่อยู่ในระดับ 72.2%

ทั้งนี้ ธปท.ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เมื่อวันที่ 25 ก.ค.เห็นว่าเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีความเปราะบางและการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของกลุ่มประเทศยูโรที่มีความล่าช้า โดยในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางในบางประเทศเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้นเพื่อดูแลความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ใกล้เคียงศักยภาพ โดยอุปสงค์ภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการส่งออกอาจได้รับผลลบจากเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้และยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย

แรงส่งของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะเริ่มลดลงตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีเป็นต้นไป อัตราการขยายตัวรายไตรมาสจะเริ่มโน้มลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มอ่อนแอกว่าที่ประเมินไว้ รวมทั้งมีสัญญาณการชะลอตัวเพิ่มเติมทั้งในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการสงออกสินค้าของไทยและความเชื่อมั่นโดยรวม ขณะที่อุปสงค์ภาคเอกชนเริ่มชะลอลงกลับสู่ระดับการขยายตัวปกติ หลังจากที่ผู้ประกอบการได้เร่งลงทุนเพื่อฟื้นฟูไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทยยังคงมาจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ในครั้งนี้ กนง.ได้ปรับลดข้อสมมติอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าลงเพิ่มเติมจากครั้งก่อน โดยประเมินว่าเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรจะอยู่ในภาวะถดถอยในปี 55 ก่อนจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วงต้นปีหน้า ขณะที่แรงส่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเอเชียแผ่วลงจากเดิมตลอดช่วงประมาณการ

"เศรษฐกิจยุโรปยังไม่มีทีท่าเห็นแสงสว่างปลายถ้ำ เศรษฐกิจสหรัฐเปราะบาง ขยายตัว 2% ถือว่าต่ำ ขณะนี้ยังมีปัญหาการว่างงาน ซึ่งจะฉุดรั้งการใช้จ่ายภายในประเทศ ประกอบกับมีความเสี่ยงที่นโยบายกระตุ้นทางด้านการคลังกำลังจะสิ้นสุดปลายปีนี้ ถ้าไม่มีการเจรจาต่อมาตรการ ตรงนี้แรงกระตุ้นก็จะหมดไปอัตโนมัติ มาตรการตรงนี้ทำให้จีดีพีสหรัฐโต 3.5% ถ้าไม่ได้ต่อก็จะติดลบลงไป 3.5% เศรษฐกิจโดยรวมก็จะแย่ลงไป โลกก็แย่ จะกระทบกับการส่งออกของไทยอีก"นายไพบูลย์ กล่าว

สำหรับแรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงจากที่ประเมินไว้ครั้งก่อน แม้การขยายตัวของเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงศักยภาพตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 แต่แรงกดดันเงินเฟ้อจากด้านอุปสงค์มีแนวโน้มแผ่วลงตามแรงส่งของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี รับผลจากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก กอปรกับความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตกอาจไม่ค่อยไปสอดคล้องกับทิศทางของราคาน้ำมัน ขณะที่ราคาอาหารสดมีแนวโน้มชะลอลงในระยะสั้นจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากกว่าที่คาด

กนง.ได้ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการ จากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่มีแนวโน้มแผ่วลงตามแรงส่งของเศรษฐกิจไทยที่จะเริ่มชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้งแรงกดดันด้านต้นทุนที่ลดลงจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับลดลงในระยะสั้น ซึ่งกนง.ประเมินว่าความเสี่ยงด้านต่ำต่อเงินเฟ้อมีมากกว่าความเสี่ยงด้านสูง

นายไพบูลย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่ได้ขยายตัวมาก ทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อลดลง ต้นทุนน้ำมัน อาหารสด และสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง และในประเทศชะลอลง ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงด้วย ธทป.ปรับสมมติฐานเงินเฟ้อพื้นฐานและเงินเฟ้อทั่วไปในปี 55 และปี 56 ลงจากคาดการณ์เดิม

ส่วนปัจจัยหนุนของเศรษฐกิจ คือ ด้านการบริโภคและการลงทุนเอกชนยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดย ธปท.คาดการณ์ว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 55 จะขยายตัว 5.2% และการลงทุนขยายตัว 14.7% ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้ายังอยู่ในระดับสูงกว่า 50 จุด แสดงว่าภาคธุรกิจยังมีความเชื่อมั่นและยังจะลงทุนต่อไป

การที่ กนง.ไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แม้เศรษฐกิจจะมีความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากการทำนโยบายการเงินของธปท.จะต้องมีส่วนผสมจากนโยบายด้านอื่นด้วย เช่น นโยบายด้านการคลัง เป็นการเติมสิ่งที่ขาดให้สมบูรณ์ขึ้น จึงจำเป็นต้องพิจารณานโยบายการเงินอย่างรอบคอบ มีขนาดพอดี ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป และใช้ในจังหวะที่เหมาะสม เพราะหลักในการทำนโยบายการเงินคือการมองภาพไปข้างหน้า มองความเสี่ยงในอนาคต

ขณะนี้ยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงสูง ซึ่งคงอัตราดอกเบี้บนโยบายเพื่อตุนกระสุนไว้ใช้ในยามจำเป็น ขณะที่มองว่าเศรษฐกิจข้างหน้ายังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวมากขึ้นแม้ว่าแรงส่งในประเทศยังดีจากการลงทุนและการบริโภคเอกชน และแรงส่งของภาครัฐ โดยกนง.ยืนยันว่าพร้อมใช้นโยบายการเงินและไม่ต้องห่วงว่ากระสุนจะด้าน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ