ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) ระบุว่า จากการที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค.55 อยู่ที่ 2.73% เร่งขึ้นเล็กน้อยจาก 2.57% ในเดือนพ.ค. ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.87% ชะลอลงจาก 1.92% ในเดือนที่ผ่านมานั้น จะเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นเล็กน้อยจากราคาน้ำมันและราคาผลไม้ ราคาน้ำมันขายปลีกในเดือนก.ค.เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นราว 10% ส่งผลให้ดัชนีราคาในหมวดพลังงานเพิ่มขึ้น 1.5% ขณะที่ราคาผลไม้เพิ่มสูงถึง 8.5% เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาสินค้าในหมวดอาหารสดเร่งขึ้นราว 0.9%
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (ไม่รวมราคาสินค้าหมวดพลังงานและอาหารสด) ทรงตัวเนื่องจากราคาอาหารสำเร็จรูป ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนที่แล้ว ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ภาครัฐขยายระยะเวลาการตรึงราคาก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนไปจนถึงสิ้นปี 55 จากเดิมที่จะหมดระยะเวลาการตรึงราคาในกลางเดือนส.ค. ทำให้ผู้ประกอบการยังไม่ทยอยปรับขึ้นราคาอาหารสำเร็จรูปในช่วงที่ผ่านมา
SCB EIC มองว่าแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไปลดน้อยลงกว่าที่คาดไว้เดิม จากการขยายระยะเวลาการตรึงราคา LPG ภาคครัวเรือนเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ลดลง เนื่องจากราคา LPG ภาคครัวเรือนต่ำกว่าราคาจริงของ LPG อยู่ถึงราว 40%
อัตราเงินเฟ้อเป็นปัจจัยรองสำหรับการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่เหลือของปี แรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถปรับลดดอกเบี้ยได้หากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปในช่วงที่เหลือของปีนี้