นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บลจ.เอ็มเอฟซี(MFC)กล่าวในการสัมมนา"เกาะติดเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2555"คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)คงจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากภาวะกดดันจากภาวะตลาดโลกที่ยังหดตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการเติบโตภายในประเทศลดลงหลังช่วงฟื้นฟูหลังอุทกภัย เพราะเงินใช้จ่ายจากภาครัฐล่าช้า ทั้งนี้ คาดว่าการที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ในปีนี้จะเติบโตที่ระดับ 5% ถือว่าทำได้ยากแล้ว โดยภาครัฐต้องเน้นหนักการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทภายในสิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ในระดับ 31-32 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งไม่ได้มาจากเงินบาทอ่อนค่าลง แต่อาจเป็นผลกระทบมาจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากเงินยูโรอ่อนตัวจากปัญหาวิกฤตหนี้ที่ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจเทขายเงินยูโร นอกจากนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังไม่ติดลบมากหนุนค่าเงินอีกทางหนึ่ง
ส่วนนายกรกฎ ผดุงจิตต์ รองเลขาธิการ สภาอุตสาหรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อความต้องการของสินค้าอุตสาหกรรมของไทยลดลง โดยเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวลงของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในหลายรายการ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์. อุตสาหกรรมยาง และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยการขยายตลาดใหม่ และบริหารจัดการต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เพื่อลดผลกระทบการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนในระยะยาวต้องเตรียมพร้อมและเร่งปรับตัวและพัฒนาขีดความสามารถ
ขณะที่นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังยังน่าจะขยายตัวได้มากกว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยมองว่าจะขยายตัวได้ 6.7-7.0% เพราะมีอุปสงค์ที่ยังคงค้างอยู่จำนวนมาก จากภาคการผลิตของไทยต้องประสบกับมหาอุทกภัยในช่วงปลายปีที่แล้วและเริ่มจะกลับมาเดินเครื่องการผลิตได้เป็นปกติในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
ประกอบกับ ภาคการบริโภคที่ดีอย่างต่อเนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท การปรับฐานเงินเดือนของข้าราชการ และอัตราเงินเฟ้อลดลง จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปี 55 จะยังคงขยายตัวได้ที่ 5-5.5%
สำหรับภาคการส่งออกต้องยอมรับว่าอาจจะขยายตัวไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 15% เพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศษฐกิจโลก ทั้งในยูโรโซนและสหรัฐฯ โดยประเมินว่าการส่งออกของไทยปี 55 จะเติบโตได้ละ 6-7% แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในยูโรโซนอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าหากเกิดกรณีที่กรีซผิดสัญญาการชำระหนี้หรือกรณีที่กรีซต้องออกจากยูโรโซน ซึ่งมีการประเมินไว้ว่าจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีในปีนี้ให้ลดลงเหลือเพียง 3% และส่งออกจะเติบโตได้เพียง 4-5% เท่านั้น
ขณะที่ไตรมาส 4/55 คาดจะเติบโตได้ 10-11% เทียบกับช่วงเดียวกันจากปีก่อน เนื่องจากฐานที่ต่ำจากภาวะอุทกภัยปลายปีที่แล้ว อีกทั้งอุปสงค์ที่อั้นตัวจากภาคการผลิตที่ปิดตัวลงไปก่อนหน้าทำให้มีออเดอร์คงค้าง ซึ่งเห็นมาตั้งแต่ไตรมาส 2/55
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ขณะที่วิกฤตยูโรโซนจึงเป็นโอกาสของกลุ่มทุนไทยที่จะเป็นการสร้างเครือข่ายทางการตลาด ขณะเดียวกันทุนยุโรปจะไม่ย้ายออกจากไทย เพราะไทยยังมีแรงดึงดูดเพราะเป็นศูนย์กลางของ AEC อย่างไรก็ตาม มองว่าหากเกิดสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศจะส่งผลกระทบรุนแรงกว่าวิกฤตยูโรโซน โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว เพราะจะเกิดความกังวลเรื่องความปลอดภัย