หอการค้าฯ เผยวิกฤตยูโรกระทบ 7 กลุ่มธุรกิจ คาดยาวถึง H2/55-เสนอมาตรการช่วย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 9, 2012 16:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิชัย อัศรัสกร กรรมการเลขาธิการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยได้สำรวจสมาชิกของหอการค้าไทย 7 กลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตยูโรโซน พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ในกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม พบว่า มูลค่าลดลง 10% และคาดว่าทั้งปีก็น่าจะติดลบที่ 10% กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ ลดลง 10.89% เฉพาะตลาดยุโรป ลดลง 23.58% กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ลดลง 12.15% เฉพาะยุโรปลดลง 5.3%

กลุ่มอาหาร ลดลง 10.15% และทั้งปีน่าจะลดลง 10-15% กลุ่มยางพารา ลดลง 33% และจะลดลงต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ลดลงไม่ถึง 10%

ขณะที่กลุ่มท่องเที่ยวแม้จะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ขณะนี้จำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มลดลงและมีคุณภาพลดลง เพราะไม่มีกำลังซื้อ และนักท่องเที่ยวจองห้องพักช้ากว่าปกติ

นายวิชัย กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่ต้องการให้ผลกระทบขยายวงกว้าง จะต้องมีแผนการและมาตรการรับมือ ซึ่งหอการค้า ได้เสนอมาตรการระยะสั้น กลางและยาว 10 มาตรการ ให้รัฐบาลเร่งพิจารณา ประกอบด้วย มาตรการระยะสั้น 6 มาตรการ ได้แก่ 1.รัฐบาลต้องมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศที่ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) 2.ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสม 3.ทบทวนนโยบายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท 4.รุกตลาดส่งออกในยุโรปที่เศรษฐกิจยังดีอยู่ เช่น เยอรมนี เบลเยียม และหาตลาดใหม่เพื่อทดแทน เช่น ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง รัสเซีย อาเซียน แอฟริกา และละตินอเมริกา 5.ลดต้นทุนทั้งระบบ และ 6.เร่งเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับอียูเรื่องการผ่อนผันการที่อียูจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทย

มาตรการระยะกลาง ได้แก่ พัฒนาระบบโลจิสติกส์และด่านการค้าชายแดนในประเทศเพื่อน เพื่อความสะดวกในการขนส่งสินค้า และเตรียมรับเออีซี

สำหรับมาตรการระยะยาว 3 มาตรการ ได้แก่ 1.ติดตามและเร่งเจรจากรอบความตกลงเอฟทีเอต่างๆ และทบทวนการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีกลุ่มทรานส์แปซิฟิก (ทีพีพี) กับสหรัฐฯ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน 2.สร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออกมากขึ้น และ3.พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ด้านนางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจผู้ประกอบการ 800 รายต่อสถานการณ์วิกฤตยุโรปที่มีผลกระทบต่อธุรกิจไทย พบว่า 52.3% เห็นว่ารัฐบาลไม่มีแผนรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรปที่ชะลอตัว มีเพียง 47.7% ที่ระบุรัฐบาลมีแผนรับมือแล้ว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องเพิ่มแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ หาตลาดใหม่ เพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้ธุรกิจ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และปรับลดอุปสรรคและกฎระเบียบด้านการค้าระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการมากถึง 58.5% ที่เห็นว่ารัฐบาลยังไม่มีผลงานในการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรป พร้อมทั้งเสนอให้ทำงานให้จริงจังกว่าที่เป็นอยู่ และควรร่วมมือกันทำงานกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ