กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยว่า รัฐบาลกลางสหรัฐมียอดขาดดุลงบประมาณประจำเดือนก.ค.ที่ 6.96 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ยอดขาดดุลงบประมาณโดยรวมในรอบ 10 เดือนแรกของนี้พุ่งขึ้นเกือบแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์
รายงานของกระทรวงระบุว่า ยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 9.738 แสนล้านดอลลาร์ ลดลง 11.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
สำนักงานงบประมาณแห่งสภาคองเกรสสหรัฐ (CBO) คาดการณ์ว่า ตัวเลขหนี้สินของรัฐบาลสหรัฐจะพุ่งทะลุ 70% ของจีดีพีในสิ้นปีนี้ ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และพุ่งขึ้นอย่างมากจากปี 2551 ซึ่งตัวเลขหนี้สินอยู่ที่ระดับ 40% ของจีดีพีเท่านั้น
CBO ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขหนี้สินพุ่งสูงคือ รายได้จากการเก็บภาษีที่ลดลงและค่าใช้จ่ายของภาครัฐที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง
"ตัวเลขหนี้สินที่เพิ่มขึ้นยังแสดงถึงความไม่สมดุลระหว่างรายได้และค่าใช้จ่ายตั้งแต่ยังไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย" CBO ระบุในแถลงการณ์ ซึ่งถือเป็นการตำหนินโยบายลดภาษีสมัยรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช
"ตัวเลขหนี้สินจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายสิบปีจากนี้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจและสถิติประชากรในระยะยาว รวมถึงการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายในเรื่องภาษีและการใช้จ่าย" CBO ระบุ
CBO คาดการณ์ว่า สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะค่อยๆลดลงสู่ระดับ 61% ในปี 2565 และ 53% ในปี 2580 หากรัฐบาลโอบามาสามารถลดการใช้จ่ายได้ตามแผนที่วางไว้ แต่ในทางตรงกันข้าม สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะพุ่งแตะ 93% ในปี 2565 และ 199% ในปี 2580 หากรัฐบาลยังใช้มาตรการลดภาษีดังเช่นในปัจจุบัน