SCB EIC เชื่อ GDP ไทยปี 55 ยังโตได้ 5.6-5.8% แม้วิกฤติยุโรปกระทบส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 14, 2012 11:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC)คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 55 ยังขยายตัวได้ในอัตรา 5.6-5.8% แม้ว่าการส่งออกเป็นความเสี่ยงหลักของการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย หลังจากการส่งออกชะลอตัวลงในช่วงปลายไตรมาส 2/55 และมีสัญญาณว่าจะชะลอตัวต่อไปเนื่องจากดัชนีการสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมของต่างประเทศ (ISM และ PMI new orders) ยังหดตัว โดยคาดว่าปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปอาจทำให้การส่งออกของไทยในปีนี้มีศักยภาพที่จะขยายตัวได้เพียงราว 10% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของการส่งออกยังไม่กระทบการใช้จ่ายในประเทศที่ยังขยายตัวได้ในระดับสูง โดยดัชนีการบริโภคและดัชนีการลงทุนที่จัดเก็บโดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ขยายตัว 4.8% และ 18.3% ตามลำดับเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/54 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าไตรมาสแรกและค่าเฉลี่ยของปีที่แล้วค่อนข้างมาก ทั้งนี้ การใช้จ่ายในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสั่งซื้อรถยนต์ที่น่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายเวลาการรับรถยนต์ของนโยบายรถคันแรก

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องจับตามองคือผลกระทบของการส่งออกต่อการจ้างงานเนื่องจากจะเป็นปัจจัยที่ทำให้การใช้จ่ายในประเทศของไทยอ่อนแรงลงได้ และเศรษฐกิจโลกซึ่งจะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 56 วิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรปน่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงในปลายปี 55 จนถึงกลางปี 56 หากเศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวได้ตามคาดในช่วงครึ่งหลังของปี 56 เศรษฐกิจไทยจะมีแรงสนับสนุนจากการส่งออกซึ่งน่าจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวได้ 4.7-5.2% ในปี 56

ขณะที่ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 55 เฉลี่ยอยู่ที่ราว 3.2-3.7% การเก็งกำไรและปัจจัยด้านอุปทานทำให้ประมาณการราคาน้ำมันดิบในระยะกลางยังไม่ลดลง ราคาน้ำมันดิบยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยภายในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับเพิ่มขึ้น 10% มาอยู่ที่ 103 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปจะช่วยเหลือสเปนและอิตาลี และธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะออก QE3 ในช่วงปลายปีนี้ นอกจากนี้ อุปทานน้ำมันในตลาดโลกเริ่มตึงตัวจากเหตุการณ์ในตะวันออกกลางที่ยังไม่มีข้อยุติ ดังนั้น ระดับราคาในหมวดพลังงานจึงยังได้รับแรงกดดันต่อไป ถึงแม้ว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีมติตรึงราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนต่อไป จากเดิมที่จะสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคมนี้

การปรับโครงสร้างราคาพลังงานตามนโยบายของภาครัฐที่จะมีผลในช่วงต้นปีหน้า เช่น การจัดเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม และการลอยตัวราคาแอลพีจี จะทำให้ราคาพลังงานขายปลีกในประเทศเพิ่มสูงขึ้น และกดดันเงินเฟ้อทั่วไปในปีหน้าให้ยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันในอีก 70 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นแรงกดดันเงินเฟ้อในปี 56 เช่นกัน

SCB EIC ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อเป็นปัจจัยรองสำหรับการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่เหลือของปีนี้ วิกฤติเศรษฐกิจยุโรปเป็นความเสี่ยงหลักต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทย ซึ่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการใช้จ่ายในประเทศจะเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ ระดับดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังสามารถสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศได้หากเศรษฐกิจยุโรปไม่หดตัวรุนแรง

สำหรับปี 56 คาดว่า ธปท. น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนกว่าจะมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัว โดยหากเศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวได้ตามคาดในช่วงครึ่งหลังของปี 56 ธปท.คงจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปี 56 เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยสอดคล้องกับระดับอัตราเงินเฟ้อ

ส่วนค่าเงินยังคงผันผวนจากความกังวลต่อปัญหาหนี้ในยุโรป ภาระดอกเบี้ยของสเปนและอิตาลีที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงนี้เป็นปัญหาที่ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่กรีซจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือในงวดต่อไป ซึ่งกลุ่มเจ้าหนี้ Troika จะตัดสินใจในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ มองว่า เงินบาทอาจจะแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงปี 56 เช่นเดียวกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค เนื่องจากสถานการณ์ในยุโรปและมาตรการช่วยเหลือน่าจะมีความชัดเจนขึ้น รวมไปถึงการดำเนินนโยบายการเงินที่น่าจะผ่อนคลายขึ้นของทางสหรัฐฯ นอกจากนี้ ค่าเงินบาทน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในปีหน้า เนื่องจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกโดยรวมลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ