นางปราณี ศิริพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีทุจริตโครงการแก้ไขปัญหาราคาหอมแดง ฤดูการผลิต ปี 2554/55 จังหวัดศรีสะเกษ ได้เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กรมสอบสวนคดีพิเศษ ธ.ก.ส. กรมการค้าต่างประเทศ องค์การคลังสินค้า และกรมการค้าภายใน ได้เข้าดำเนินการตรวจสอบเอกสารหลักฐานและลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในจังหวัดศรีสะเกษ ประกอบด้วย อำเภอยางชุมน้อย อำเภอกันทรารมย์ อำเภอราษีไศล และอำเภอวังชุม พบว่า มีความผิดปกติ จึงได้ขยายผลตรวจสอบเชิงลึกและพบว่า มีการสวมสิทธิเกษตรกร ที่มีนายหน้าชักจูงให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ และมีเจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องถิ่นบางส่วน ได้ฝากหอมแดงให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ นอกจากนี้ยัง พบว่ามีการรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ และมีการปลอมแปลงเอกสารต่างๆ อีกด้วย
จากการตรวจพบดังกล่าวเป็นการกระทำผิดที่มีลักษณะซับซ้อนเกี่ยวพันเป็นขบวนการและมีมูลค่าความเสียหายสูง เกี่ยวเนื่องกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ซึ่งคณะกรรมการจะได้ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฏหมายต่อไป สำหรับการจ่ายเงินให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ กระทรวงพาณิชย์จะได้แต่งตั้งคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบน่าเชื่อถือ เป็นผู้พิสูจน์สิทธิเกษตรกร รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหาผู้รับผิดทางละเมิดอีกด้วย
ในส่วนขององค์การคลังสินค้า (อ.ค.ส.) เองก็ได้มอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่อ.ค.ส.เร่งรัดดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกษตรกรที่สุจริตได้รับความเดือดร้อน โดยขอความร่วมมือจากเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องด้วย
"หากเกษตรกรรายใดที่นำหอมแดงมาจำหน่ายแก่ อ.ค.ส. จริง ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับเงิน และขอให้เกษตรกรเหล่านั้นให้ความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบอย่างเต็มที่ด้วย"นางปราณี กล่าว