นางกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวในการสัมมนา "2012 Thailand Investment Environment : Miximizing the AEC Opportunity"ว่า ข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าไม่น่ากังวลเท่าความสามารถของแต่ละประเทศที่จะดำเนินการเปิดเสรีตามข้อตกลงได้มากน้อยเพียงใด เพราะแต่ละประเทศจะมีกฎระเบียบกำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้าที่แตกต่างกัน เพื่อใช้เป็นการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษีแทน
ส่วนการเปิดเสรีด้านการลงทุนโดยเฉพาะธุรกิจบริการที่เมื่ออาเซียนรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) แล้วจะมีการเคลื่อนย้ายบุคลากรในด้านวิชาชีพ เช่น หมอ, พยาบาล, วิศวกร, สถาปนิก เป็นต้น รวม 8 กลุ่มวิชาชีพที่จะทำข้อตกลงร่วมกันไว้นั้นแต่ละประเทศมีกฎระเบียบมากมาย หากจะมีการเคลื่อนย้ายจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ได้มีกฎระเบียบใดที่ระบุหรือรับรองไว้ชัดเจนว่าหากเป็น AECแล้ว ข้อตกลงที่ให้ไว้ในอาเซียนจะสามมารถทำได้จริงทั้งหมด จึงไม่อยากให้กังวลว่าเมื่อเป็น AEC แล้วไทยจะแข่งขันไม่ได้ แต่ให้มองว่าไทยจะใช้ประโยชน์อย่างไรให้ได้มากที่สุดจาก AEC
"ที่ไทยต้องกังวลตอนนี้ไม่ใช่เรื่องการเสียบเปรียบหรือแข่งขันไม่ได้ แต่ควรกังวลว่าเมื่อเป็น AEC แล้วไทยจะได้ประโยชน์จริงไหมและมากน้อยแค่ไหน เพราะไทยมีศักยภาพค่อนข้างมากในอาเซียน ควรหาโอกาสจากการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน หรือโอกาสในการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตและการส่งออกเป็นการลดต้นทุน ตอนนี้เราต้องเปลี่ยนความกลัวเป็นโอกาสได้แล้ว" นางกิริฏา กล่าว
นายนานเดอร์ ฟานเดอร์ ลูเฮ ประธานหอการค้านานาชาติในประเทศไทย กล่าวว่า การเปิดเสรีการค้าในอาเซียนนั้นคงไม่กระทบต่อธุรกิจต่างชาติในไทย เพราะจะเป็นประโยชน์มากกว่าในการเชื่อมโยงตลาดทางการค้า แต่สิ่งสำคัญตอนนี้คือความกังวลในเรื่องของการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ที่หลังจากนี้คาดว่าแต่ละประเทศจะกำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้าเพื่อเป็นการกีดกัน ทำให้การเปิดเสรีทางการค้าอาเซียนไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร