ศูนย์วิเคราะห์ศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) ระบุว่า นโยบายการเงินแบบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ยังจะเหมาะกับเศรษฐกิจไทยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เพราะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ในทุกมิติพร้อมๆกัน
ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)ได้ประมวลข้อมูลของประเทศที่ใช้เป้าหมายเงินเฟ้อกับไม่ใช้เป้าหมายเงินเฟ้อ พบว่า ในสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยเปรียบเทียบกันแล้ว ประเทศที่ใช้เป้าหมายเงินเฟ้อ มีระดับเงินเฟ้อที่ลดลง อีกทั้งมีเสถียรภาพของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและระดับราคามากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะเห็นผลได้ชัดกว่าในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ แม้บางช่วงเวลาจะถูกกระทบจากวิกฤตภายนอกก็ตาม ซึ่งถ้าหากต้องการให้ธนาคารกลางมีช่องในการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนมากขึ้น ก็อาจใช้วิธีขยับเป้าเงินเฟ้อกรอบบนให้สูงขึ้นในระดับที่สมควรได้ เพื่อลดข้อจำกัดของผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจจะแรงไปบ้างเป็นบางขณะ รวมทั้ง มีการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเพียงเท่าที่จะเกิดผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศอย่างมีนัยสำคัญเท่านั้น
ก่อนมาเป็น “เป้าหมายเงินเฟ้อ" ประเทศไทยเคยใช้นโยบายการเงินมาแล้วหลายรูปแบบ ทั้ง เป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน (ก่อนกรกฎาคม 2540) และ เป้าหมายปริมาณเงิน (กรกฎาคม 2540 ถึง กลางไตรมาสสองปี 2543) แม้นโยบายการเงินแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป โดยหากพิจารณาประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้วจะเห็นได้ว่า ในช่วงที่ใช้เป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน เศรษฐกิจไทยมีความร้อนแรง และเครื่องชี้วัดด้านราคาทรงตัวในระดับค่อนข้างสูง แต่หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยปรับมาใช้เป้าหมายเงินเฟ้อ ทำให้ระดับราคามีเสถียรภาพมากขึ้น และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำลงมา แต่ก็มิได้แย่ซะทีเดียว โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (เป็นอัตราเงินเฟ้อที่ไม่รวมราคาพลังงานและอาหารสด) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตั้งไว้เกือบจะร้อยทั้งร้อย (ปี 2543-2552 กรอบคือ 0% - 3.5% สำหรับปี 2553 เป็นต้นมา กรอบคือ 0.5% - 3.0%)
แต่ปัจจัยการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เร็วขึ้น ย่อมทำให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน จนอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจได้ ทำให้มีบางมุมมองเสนอว่า นโยบายการเงินแบบเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนอาจจะใช้ได้ผลดีกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อหรือไม่ ในการบริหารเศรษฐกิจระดับมหภาค
"หากผู้ดำเนินนโยบายการเงินต้องการใช้เป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างเสถียรภาพภายนอก ก็ต้องแลกกับความผันผวนของการเติบโตทางเศรษฐกิจและระดับราคาในประเทศที่อาจมากขึ้น ในทางกลับกัน หากผู้ดำเนินนโยบายต้องการรักษาเสถียรภาพด้านราคาและการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ อาจต้องยอมรับความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น ฉะนั้น มุมมองที่แตกต่างกัน เพียงสะท้อนให้เห็น ถึงการให้ความสำคัญของเป้าหมายนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกัน โดยท้ายสุดจะออกหัวหรือก้อยนั้น คงต้องกลับไปมองที่เป้าหมายและบทบาทของธนาคารกลาง" TMB Analytics ระบุ