นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการหารือในระดับเจ้าหน้าที่ของ 3 ประเทศผู้ผลิตยางพารามีข้อสรุปตรงกันคือ จะจำกัดและลดปริมาณในตลาดลงจำนวน 3 แสนตัน โดยจะกำหนดตามสภาพความมากน้อยของพื้นที่เพาะปลูกและปริมาณการส่งออกที่ผ่านมา โดยในส่วนประเทศไทยจะลดปริมาณการส่งออกลง 150,000 ตัน ส่วนที่เหลือเป็นยางในส่วนของอินโดนีเซียและมาเลเซีย
ขณะเดียวกัน จะมีมาตรการโค่นยางอายุมากเพื่อปลูกยางใหม่ทดแทน จำนวน 1 แสนไร่ ซึ่งจะทำให้ปริมาณยางลดลงอีก 150,000 ตัน โดยจะมีการจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรไร่ละ 16,000 บาท
รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เชิญสมาคมยางพาราแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการมาประชุมเพื่อรับฟังการชี้แจงและรับทราบข้อมูลถึงโควต้าในการส่งออกยางที่ต้องเปลี่ยนแปลง และรับรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ขณะที่การรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรตามนโยบายรัฐบาลที่อนุมัติเงิน 15,000 บาทล้านบาทนั้น รัฐบาลก็จะยังดำเนินการต่อไป
"มาตรการที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น มีผลได้ทันที และเชื่อว่าหลังจากมาตรการนี้ออกไปจะมีส่วนช่วยทำให้ราคายางในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะทำให้ราคายางพาราสูงขึ้นเท่าใด แต่จะมีการประเมินสถานการณ์ร่วมกันทุกระยะ ถ้าไม่ดีขึ้น ก็จะเพิ่มมาตรการต่อไป โดยการประชุมครั้งหน้าอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนก.ย."นายณัฐวุฒิ กล่าว